ในการร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์อิสระซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือ สมาคมวิจัยชีวการแพทย์แห่งชาติ (National Association for Biomedical Research หรือ NABR) ยื่นคำร้องต่อองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN) เพื่อคัดค้านการระบุสถานะลิงแสม (Cynomolgus macaque) เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ภายใต้เกณฑ์การจัดประเภทสถานะของ IUCN ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ทั้งนี้ การระบุสถานะครั้งนี้เป็นผลจากการใช้ข้อมูลอย่างไม่เหมาะสมซึ่งไม่ได้สนับสนุนว่าสปีชีส์ดังกล่าวเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในการนี้ NABR เรียกร้องให้มีการตรวจสอบโดยทันที
ประธานสมาคมวิจัยชีวการแพทย์แห่งชาติ คุณแมทธิว อาร์. เบลีย์ (Matthew R. Bailey) กล่าวว่า “วานรที่ไม่ใช่มนุษย์มีสัดส่วนไม่ถึง 0.5% ของสัตว์ทั้งหมดที่ใช้ในการวิจัย แต่กระนั้นก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนายา อุปกรณ์ และวัคซีนใหม่ ๆ สำหรับคนและสัตว์เลี้ยง ยาและวิธีการรักษาหลายหมื่นรายการอาจไม่สามารถผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาได้เลยหากไม่มีลิงแสมในการวิจัย การจัดสถานะลิงแสม ตลอดจนมาตรการจำกัดการนำเข้าใด ๆ ที่จะตามมา ต้องอิงกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ การจำกัดการนำเข้าลิงแสมโดยพลการอาจส่งผลให้ชีวิตมนุษย์หลายล้านคนตกอยู่ในอันตรายและก่อภัยคุกคามด้านสาธารณสุขระดับโลก”
“การจัดประเภทลิงแสมเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์โดย IUCN เป็นการสร้างแบบอย่างที่อันตราย เพราะการระบุสถานะครั้งนี้ไม่ได้อิงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการตรวจทานผลงานโดยผู้เชี่ยวชาญ (Peer Review) กรณีเช่นนี้ถือว่าน่ากังวลเป็นพิเศษ เพราะการกระทำโดยพลการเช่นนี้ทำให้การวิจัยทางการแพทย์ที่ช่วยชีวิตคนดำเนินการได้ยากยิ่งกว่าเดิมในสหรัฐและประเทศอื่น ๆ”
การประเมินของ IUCN ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2565 ไม่สามารถนำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนการจัดประเภทลิงแสมใหม่จากสถานะเปราะบางเป็นใกล้สูญพันธุ์ การประเมินของ IUCN มีข้อผิดพลาดและการกล่าวบิดเบือนหลายประการ อีกทั้งไม่ได้ให้หลักฐานที่แท้จริงของการลดลงของสปีชีส์ เมื่อเทียบกับการประเมินในอดีตที่ผ่านมา
ปัจจุบันวานรที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นเป็นทรัพยากรล้ำค่าที่ไม่มีสิ่งอื่นมาทดแทนได้ในการศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์, ภาวะการเสื่อมของระบบประสาท, โรคติดเชื้อ, ภูมิคุ้มกันบำบัด, การสืบพันธุ์, การชราวัย, โรคอักเสบเรื้อรัง และวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ เนื่องจากวานรที่ไม่ใช่มนุษย์กับมนุษย์มีดีเอ็นเอเหมือนกัน 93% ถึง 98% มีกายวิภาคของสมองที่คล้ายคลึงกัน และมีระบบร่างกายใกล้เคียงกัน วานรที่ไม่ใช่มนุษย์จึงมีความสำคัญต่อการค้นพบในการวิจัยทางชีวการแพทย์ที่ยังผลเป็นยา วัคซีน และชีววัตถุใหม่ ๆ ยาส่วนใหญ่จำนวนมากมายในตลาดปัจจุบันต้องพึ่งพาข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพจากสัตว์ตัวแบบหลายตัวก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ขยับไปสู่การทดลองทางคลินิกในมนุษย์ ดังที่แสดงโดยการศึกษายา 25 รายการและสัตว์ตัวแบบของมูลนิธิเพื่อการวิจัยทางชีวการแพทย์ (Foundation for Biomedical Research)
ประธานสมาคมการวิจัยชีวการแพทย์แห่งชาติ คุณแมทธิว อาร์ เบลีย์ จะให้การต่อหน้าที่ประชุมคณะกรรมาธิการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศในสปีชีส์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora Animals Committee) ณ เจนีวาในวันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน 2566 เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนการจัดสถานะลิงแสมเป็นใกล้สูญพันธุ์
ภูมิหลัง
มีการใช้ลิงแสมอย่างแพร่หลายในการวิจัยทางการแพทย์เพื่อพัฒนายาในสหรัฐ รายงานของสถาบันวิชาการ (National Academies) เรื่องตัวแบบวานรที่ไม่ใช่มนุษย์ในการวิจัยทางชีวการแพทย์: สถานะของวิทยาศาสตร์และความต้องการในอนาคต (2566) (Nonhuman Primate Models in Biomedical Research: State of the Science and Future Needs (2023)) เน้นย้ำว่าปัจจุบันการทดลองในสัตว์ตามด้วยการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทดสอบผลที่ซับซ้อนทางสรีรวิทยา, ประสาทกายวิภาค, การสืบพันธุ์, การพัฒนา และการรู้คิด เพื่อระบุความปลอดภัยและประสิทธิผลสำหรับการอนุญาตให้วางจำหน่ายในตลาด หน่วยงานกำกับดูแลรายสำคัญในทั่วโลก รวมถึงองค์การอาหารและยาสหรัฐ (U.S. Food and Drug Administration) และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) กำหนดให้ยาและชีววัตถุใหม่ส่วนใหญ่ต้องได้รับการประเมินในด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพกับสัตว์ตัวแบบประเภทสัตว์ฟันแทะและที่ไม่ใช่สัตว์ฟันแทะ รวมถึงวานรที่ไม่ใช่มนุษย์ ก่อนที่จะสามารถเริ่มดำเนินการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย
ในวันที่ 7 มีนาคม 2565 IUCN ระบุว่าลิงแสมควรมีสถานะ “ใกล้สูญพันธุ์” ภายใต้เกณฑ์ของ IUCN หลักพื้นฐานของการระบุดังกล่าวนี้อยู่ในการประเมินที่ดำเนินการโดยเอ็ม. เอฟ. แฮนเซน (M.F. Hansen) และคณะ (Hansen et al. 2022)
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 NABR ยื่นคำร้องต่อ IUCN เพื่อคัดค้านการเปลี่ยนแปลงการจัดสถานะ โดยนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนในการร่างคำร้องได้ระบุถึงการขาดข้อมูลสนับสนุนการกำหนดสถานะใหม่ จากการตรวจสอบการประเมินโดย Hansen et al. (2022) คำร้องระบุว่าวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้อ้างอิงมักถูกตีความผิด และข้อมูลดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ว่าลิงแสมลดจำนวนลง
การยื่นคำร้องครั้งนี้โดย NABR ชักนำให้เกิดการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์โดย IUCN ในการตรวจสอบดังกล่าวนี้ นักวิทยาศาสตร์จะตรวจสอบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่เพื่อระบุสถานะของลิงแสมภายใต้เกณฑ์ของ IUCN และเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวนี้ IUCN จะประกาศข้อค้นพบ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในการจัดประเภทสถานะใด ๆ
เกี่ยวกับสมาคมวิจัยชีวการแพทย์แห่งชาติ
สมาคมวิจัยชีวการแพทย์แห่งชาติ (NABR) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2522 เป็นสมาคมไม่แสวงกำไรตามกฎหมายมาตรา 501(c)(6) ของสหรัฐแห่งเดียวที่มุ่งอุทิศตนเพื่อนโยบายสาธารณะที่สมเหตุสมผลสำหรับการใช้สัตว์ในการวิจัย การศึกษา และการทดลองทางชีวการแพทย์อย่างมีมนุษยธรรม สมาชิกของสมาคมฯ ประกอบด้วยมหาวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์และโรงเรียนสัตวแพทย์ โรงพยาบาลเพื่อการเรียนการสอน บริษัทเภสัชภัณฑ์และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มผู้ป่วย และสมาคมวิชาการและสมาคมวิชาชีพกว่า 340 แห่ง ที่พึ่งพาการวิจัยในสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมและความรับผิดชอบเพื่อส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ในระดับโลก ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเราได้ที่ www.nabr.org
ติดต่อ: อีวา มาซีจูวสกี (Eva Maciejewski)
อีเมล: emaciejewski@nabr.org
โทร. (202) 967-8305
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1138543/NABR_Logo.jpg