กรุงเทพฯ – 20 กรกฎาคม 2565 เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย(RUN) นำโดย ศ.นพ.วชิร คชการประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) ได้นำงานวิจัยบางส่วนจาก 8 มหาวิทยาลัย เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายในงานแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ครั้งที่ 17” ณ ห้องประชุม Lotus Suite 1 – 4 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ศ.นพ.วชิร คชการ ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (RUN) เปิดเผยว่า มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นเวทีระดับชาติที่นำเสนอความก้าวหน้าผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 แล้ว โดยในทุก ๆ ปี เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย(RUN) ได้นำผลงานวิจัยของ 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยนเรศวร เข้าร่วมแสดงนิทรรศการมาโดยตลอด ซึ่งพันธกิจหลักของ RUN คือ มุ่งเน้นการประสานความร่วมมือและสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และสร้างขีดความสามารถทางการศึกษา วิจัยและพัฒนา ของประเทศและยกระดับสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งประสานความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย บัณฑิตศึกษา นักศึกษาและบุคลากรทางการวิจัยในการร่วมกันดำเนินงานทางด้านการวิจัย การแลกเปลี่ยนและใช้ทรัพยากร ตลอดจนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในระหว่างพันธมิตรการวิจัย รวมถึงสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชนหรือเครือข่ายอื่น ๆ และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่สังคม ภาคผลิตและภาคบริการ
สำหรับในปีนี้ RUN ได้นำผลงานวิจัยเด่นกว่า 30 งานวิจัย และ คลัสเตอร์วิจัยทั้ง 10 คลัสเตอร์ ภายใต้แนวคิด “Driving BCG Economy Through R&I” มาร่วมจัดนิทรรศการภายในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) และได้นำผลงานวิจัยเด่น 8 ผลงาน จาก 8 มหาวิทยาลัยเครือข่ายฯ มาร่วมจัดแสดงภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย ได้แก่
1. ชุดโครงการวิจัย เที่ยวกรีน กินคลีน เสพศิลป์เมืองน่าน: การสรรสร้างเมืองน่านเพื่อยกระดับสู่การท่องเที่ยวสีเขียวอย่างยั่งยืน (Creating Nan City toward Sustainable Green Tourism) โดย ดร.ปัณฑิตา ตันวัฒนะ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. ภาวะการดื้อยาต้านมาลาเรียทางชีวโมเลกุลในประเทศไทย ในทศวรรษที่ผ่านมา โดย ศ. ดร.มัลลิกา อิ่มวงศ์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
3. มาตรฐานสินค้าเกษตร (KU Standard) ข้อบังคับสำหรับการจัดการบ้านนกแอ่นกินรังตามการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบำรุงผิวหน้าจากรังนก โดย ผศ.ดร. นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์, ผศ.ดร. แสงสรรค์ ภูมิสถาน, ดร.พิลาณี ไวถนอมสัตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ
4. “อุปกรณ์ตรวจวัดมุมการเปลี่ยนแปลงการทรงตัวและแจ้งเตือนก่อนสูญเสียการทรงตัว” โดย รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ และ ผศ.สุดารัตน์ อภิบาลทวีสกุล คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. “ซุปสุขภาพจากข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วงผสมสมุนไพรต่อความจำขณะทำงาน การเหนื่อยล้า อาการตาแห้ง คุณภาพการนอนและโภชนาการส่วนบุคคล” โดย ศาสตราจารย์ ดร. จินตนาภรณ์ วัฒนธร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ
6. Gastronomy Tourism : LANNA Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ
7. การวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตปูทะเลตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่เมืองปูทะเล โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ซุกรี หะยีสาแม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ
8. ผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นปากผสมสารสกัดฟ้าทะลายโจรป้องกันการติดเชื้อไวรัส โดย รศ.ดร. ภก.เนติ วระนุช คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
นอกจากนี้ในวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 11.30 น. ณ ห้องประชุมเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย(RUN) ยังได้จัดกิจกรรมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “มองภาพงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน” โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม วุฒิสภา การบรรยายพิเศษหัวข้อ “Soft Power ไทย…อย่างไรถึงจะปัง!” โดย คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และปิดท้ายด้วย การเสวนาเรื่อง “การสนับสนุนงานวิจัยด้าน Creative Economy” โดยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าวในมุมมองของผู้สนับสนุนทุนวิจัย พร้อมด้วย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในมุมมองของผู้สนับสนุนทุนวิจัย ผศ.ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย อาจารย์ประจำคณะสภาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในมุมมองของผู้สร้างสรรค์ผลงาน และ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในมุมมองของสถาบันอุดมศึกษา โดยมี ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ทั้งนี้ขอเชิญชวนอาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมชม
การแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022) ครั้งที่ 17 ” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 5 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
######################
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ผู้ประสานงาน : นายยิ่งพิพัฒน์ แสนยากุล เบอร์โทรศัพท์ 083-862-8041