เลขาฯ กบข. เดินหน้าลงทุนหุ้น ESG ขับเคลื่อน กบข. สู่ความยั่งยืนที่แท้จริง

ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาฯ กบข. เดินหน้ากองทุนฯ มุ่งสู่การเป็น Leader in ESG Investing ผู้นำด้านกองทุนที่รับผิดชอบด้าน ESG พร้อมวางเป้ามหายที่จะบูรณาการการลงทุนทั้งหมดให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 

กบข. ลงทุนหุ้น ESG เพื่อความยั่งยืน

จากผลการสำรวจในหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะเห็นได้ว่าปัจจุบันการลงทุนแบบยั่งยืนกำลังมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปัจจุบันมีองค์กรหลายองค์กรได้จัดตั้งดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Index) เพื่อเป็นการชี้วัดว่าบริษัทมีการดำเนินการธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG

ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาฯ กบข. เปิดเผยถึงแนวทางการลงทุนของ กบข ที่ยึดหลัก EGS ว่า “ กบข. ชัดเจน และแน่วแน่ในการบริหารพอร์ตของข้าราชการกว่า 1.19 ล้านราย และสินทรัพย์กว่า 1.28 ล้านล้านบาท ล่าสุดพอร์ตการลงทุนของ กบข.ได้พิจารณาการลงทุน ESG 100% แต่ยังคงมีความท้าทายในการทำงานด้านนี้ คือ การหา ESG รีเทิร์น”

ถึงแม้เราจะช่วยลดโลกร้อนด้วยวิธีการต่างๆ แต่ยังคงมีคำถามว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นสามารถช่วยให้โลกของเราหายร้อนจริงหรือ ยังคงเป็นคำถามที่ทางนักวิทยาศาสตร์ และคนในวงการอีเอสจี (ESG) ต้องค้นหาคำตอบต่อไป เพราะไม่มีคำตอบที่ตายตัว การเดินหน้าทำ ESG ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ในปัจจุบันได้มีองค์กรเอกชนได้จัดทำทำอีเอสจีสกอร์ มาขายเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานหนึ่งเดียวที่ชัดเจน สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือการขับเคลื่อนการลงทุนไปในทิศทางเพื่อความยั่งยืน

เลขาฯ กบข. เชื่อ หุ้น ESG ส่งผลบวกต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

และจากผลสำรวจนักลงทุนหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เห็นได้ว่า นักลงทุน อย่าง นักลงทุนบุคคล และนักลงทุนสถาบัน ต่างให้ความสำคัญมากขึ้นในการลงทุนแบบยั่งยืน หรือ การลงทุนใน ESG ซึ่งผลการของสำรวจพบว่า พอร์ตการลงทุนขอนักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ 80% มีการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และผู้แนะนำทางการเงินมีการแนะนำการลงทุน หรือได้ลงทุนด้วยตัวเอง ในกองทุนแบบ ESG มากขึ้นอีกด้วย

“เนื่องจากการลงทุนแบบยั่งยืน หรือการลงทุนใน หุ้น ESG กำลังมีอิทธิพลในตลาดการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีองค์กรต่างๆ ได้จัดตั้งดัชนีความยั่งยืน เพื่อเป็นดัชนีชี้วัด ว่าบริษัทต่างๆ ว่ามีแนวคิดการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวคิด ESG โดยบริษัทจำกัดที่ได้รับคะแนนผ่านการประเมินทั้ง 3 มิติ คือ มิติสิ่งแวดล้อม, มิติบุคคลในองค์กร ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญ และมิติความโปร่งใสขององค์กร ถือเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนองค์กร เมื่อองค์กรได้รับการประเมินจากทั้ง 3 มิติแล้ว จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน ที่สามารถดึงดูดความสนใจในการลงทุนในกลุ่มนักลงทุนได้”

“จากข้างต้นเองเห็นได้ว่านักลงทุนทั้ง นักลงทุนบุคคล และนักลงทุนสถาบันได้ให้ความสำคัญกับหุ้น ESG มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกระยะยาวต่อตลาดหลักทรัพย์อย่างแน่นอน” เลขาฯ กบข. ศรีกัญญา ยาทิพย์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

กบข. เลือกมูลค่าหุ้น ESG ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ในการเลือกการลงทุนในหุ้น ESG ของ กบข. ทาง เลขาฯ กบข. ได้ให้คำบตอบว่า “การเลือกลงทุนในหุ้น ESG เราต้องทำความเข้าใจกรอบ ESG ก่อน และนำมากำหนดแนวทางการลงทุนของ กบข. รวมทั้งเพื่อนำไปบริหารการลงทุนไม่ให้หลุดคอนเซ็ปต์ของความยั่งยืน”

ในเรื่อง ESG นั้น กบข. มีความเชื่ออย่างจริงใจว่า การลงทุนไม่สามารถมองข้ามเรื่องสิ่งแวดล้อมไปได้ การขับเคลื่อนเรื่อง ESG และความยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ใช้แค่การพีอาร์ หรือ ซีเอสอาร์ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากการทำงานที่มีกรอบอย่างชัดเจน เบื้อต้น กบข. ได้นำหลักการลงทุนแบบรับผิดชอบ ขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น มาเป็นกรอบกระบวนการการลงทุน หรือพิจารณาปัจจัย ESG ร่วมกับปัจจัยอื่นในการตัดสินใจลงทุน

สำหรับแนวทางการทำงานด้าน ESG ลำดับแรก คือ การคัดเลือกผู้จัดการกองทุนที่มีความรู้ความสามารถด้าน ESG และสามารถตอบคำถามต่างๆ ได้ เช่น จะใช้ ESG เพื่อการลงทุนอย่างไร มีหลักเกณฑ์เลือกอย่างไร เนื่องจากแต่ก่อนไม่มีคะแนนเรื่อง ESG แต่ปัจจุบันนี้ต้องสามาถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ซึ่งจะเป็นคะแนนที่เพิ่มขึ้นจาก คะแนนที่มาจากผลงานด้านการเงิน อีกด้วย

ต่อมาเป็นการตีมูลค่าการลงทุน สมัยก่อนจะมีสัดส่วนผลประกอบการด้านการเงิน ตอนนี้จะนำเรื่อง ESG มาตีมูลค่าด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำงานร่วมกับพันธมิตร เช่น บริษัทเอกชนต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก เพื่อกำหนดข้อมูลสำหรับการตีมูลค่าการลงทุน จัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐาน ส่งต่อทีมที่ทำหน้าที่ตัดสินใจด้านการลงทุน หากบริษัท 2 แห่งมีผลการเงินที่ดี แต่อีกบริษัทมี มูลค่า ESG ที่ดีกว่าอีกบริษัทนึง นับว่าบริษัทดังกล่าวจะมีแต้มต่อที่น่าสนใจสำหรับการเลือกเข้าไปลงทุน

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทที่เข้าไปลงทุนมีปัญหา หรือต้องลดหรือตัดการลงทุนนั้นๆไป ผู้จัดการกองทุนต้องสามารถอธิบายให้ได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือ สมาชิก ซึ่ง กบข. ไม่สามารถลงทุนเพื่อความพึงพอใจด้านใดด้านหยึ่งได้ แต่ต้องรู้ว่าเงินที่เป็นของสมาชิก และต้องรักษาผลประโยชน์ให้สมาชิก

กบข. ร่วมสร้างสมดุล ผลตอบแทนทางการเงิน และ ESG

“เราต้องสร้างสมดุล 2 สิ่งทั้งผลตอบแทนทางการเงิน และ ESG แต่ท้ายที่สุดสมาชิกสำคัญที่สุดเพราะเป็นเจ้าของเงินที่แท้จริง เราจึงไม่สามารถนำเงินไปสร้างความพึงพอใจอะไรก็ได้ แต่เราเอาเงินของเขาไปขับเคลื่อนไปข้างหน้ามากกว่า กบข. คิดแบบนี้ ซึ่งการลงทุนบางอย่าง อาจมองว่าดีในแง่ ESG แต่ด้านการเงินอาจไม่ดี แต่ถ้ามองระยะยาวแล้วเห็นว่าธุรกิจนั้นๆ จะมีโอกาสที่ดีในอนาคต จะสามารถยอมประณีประนอมได้ในระยะสั้น เช่น รถยนต์ EV ถือว่าเป็นการซื้ออนาคตเพื่อสร้างผลตอบแทนกลับมาในอนาคต ซึ่ง ESG ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นที่ผลักดันให้ทุกภาคส่วนให้ลุกขึ้นมาร่วมมือยกระดับโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้นในทุกมิติอีกด้วย”

ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาฯ กบข. กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับที่เราเข้าไปลงทุนนั้น ถ้าหากพบว่า ธุรกิจนั้นมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน หรือสิ่งแวดล้อม เราจะไม่ถอนการลงทุนทันที แต่เราจะใช้วิธีการพูดคุยร่วมแก้ปัญหา ให้สามารถเดินทางไปในทิศทางเดียวกันได้ แต่ถ้าเกิดปัญหาแล้วไม่แก้ ทาง กบข. เอง ก็จะมีมาตรการเริ่มจะค่อยๆลดการลงทุนไปตามลำดับ” 

“เพราะเราสร้างสมดุล ทั้งผลตอบแทนทางการเงิน และ ESG แต่ท้ายที่สุดสมาชิกสำคัญที่สุด เพราะเป็นเจ้าของเงินที่แท้จริง ไม่สามารถนำเงินไปสร้างความพึงพอใจอะไรก็ได้ แต่เราเอาเงินไปขับเคลื่อนอนาคตข้างหน้าเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ต่อสมาชิกมากที่สุด”