สามนักบินอวกาศจีนได้เข้าไปปฏิบัติงานในสถานีอวกาศของจีนภายใต้ภารกิจเสินโจว-12 นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่เคยมีชาวจีนขึ้นไปปฏิบัติงานในสถานีอวกาศมาก่อน
สำนักงานด้านวิศวกรรมอวกาศของจีน (China Manned Space Engineering Office) เปิดเผยว่า นักบินอวกาศทั้งสามซึ่งประกอบด้วย เนี่ย ไห่เฉิง, หลิว ป๋อหมิง และ ถัง หงป๋อ ได้ออกจากยานอวกาศเสินโจว-12 ที่ยิงขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันพฤหัสบดี และเข้าสู่โมดูลหลัก “เทียนเหอ” ของสถานีอวกาศ
เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้เกิดขึ้น 20 ปีหลังจากที่มีการปล่อยสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ขึ้นสู่วงโคจร แต่ไม่อนุญาตให้นักบินอวกาศจีนเข้าสถานี เนื่องจากกฎหมายของสหรัฐอเมริกาห้ามองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ทำงานร่วมกับนักบินอวกาศจีน
ในขณะที่สถานีอวกาศนานาชาติกำลังจะปลดประจำการ และรัสเซียตัดสินใจถอนตัวจากโครงการ จีนได้สร้างสถานีอวกาศใหม่และเชิญชวนทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ
สถานีอวกาศของจีน ซึ่งโคจรรอบโลกที่ระดับความสูงราว 400 กิโลเมตร ยังคงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยมีอีก 8 ภารกิจที่ยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ซึ่งรวมถึงภารกิจสามนักบินอวกาศเข้าประจำการ
ปัจจุบัน สถานีอวกาศของจีนประกอบด้วยโมดูลหลักชื่อเทียนเหอ ยานบรรทุกสินค้าเทียนโจว-2 และยานอวกาศเสินโจว-12 ซึ่งเชื่อมกับสถานีอวกาศได้ไม่ถึงสามชั่วโมงก่อนที่นักบินอวกาศจะเข้าไปในสถานีอวกาศ
Astronaut, Cosmonaut หรือ Taikonaut
ชาวจีนจำนวนหนึ่งภูมิใจอย่างมากกับความสำเร็จครั้งนี้ จนยกประเด็นการเรียกนักบินอวกาศขึ้นมาถกกัน
ปัญหาการเรียกนักบินอวกาศเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น เมื่อสหภาพโซเวียตเรียกนักบินอวกาศของตนเองว่า “cosmonaut” ขณะที่สหรัฐอเมริกาเรียกนักบินอวกาศของตนเองว่า “astronaut”
ต่อมา คำว่า “taikonaut” ก็เกิดขึ้น โดยมาจากคำว่า taikong ในภาษาจีนกลางที่แปลว่าอวกาศ รวมกับคำต่อท้าย “-naut”
พจนานุกรมของ Oxford และ Longman มีคำว่า taikonaut และระบุว่าแปลว่านักบินอวกาศจีน
ก้าวต่อไป
ขณะนี้ นักบินอวกาศทั้งสามได้ขนข้าวของจากยานเทียนโจว-2 เข้าสู่สถานีอวกาศ รวมถึงติดตั้ง Wi-Fi และอุปกรณ์อื่น ๆ แล้ว
พวกเขาจะอยู่ในสถานีอวกาศอย่างน้อยสามเดือน เพื่อทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลากหลายการทดลอง นอกจากนั้นจะมีการใช้หุ่นยนต์แขนกลเพื่อทำภารกิจออกจากยานอวกาศ (spacewalk) ด้วย
https://news.cgtn.com/news/2021-06-17/Shenzhou-12-astronauts-enter-space-station-core-module-11aD1mmDQ1a/index.html
ลิงก์: https://www.youtube.com/watch?v=QINRV_S-Pkk