ราว 3 ใน 4 ของน้ำประปาที่ใช้ในกรุงปักกิ่งมาจากอ่างเก็บน้ำที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงของจีนไปทางใต้กว่า 1,000 กิโลเมตร
อ่างเก็บน้ำดังกล่าวมีชื่อว่า ตานเจียงโข่ว (Danjiangkou) อันเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายกลาง ของโครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือ (South-to-North Water Diversion Project) ซึ่งเป็นโครงการผันน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยระดับน้ำของอ่างเก็บน้ำแห่งแม่น้ำฮั่นเจียง (Hanjiang River) ถูกยกระดับขึ้น 14.6 เมตร เป็น 176.6 เมตร เพื่อให้น้ำสามารถไหลไปทางตอนเหนือที่แห้งแล้งได้ กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนระบุว่า อภิมหาโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า 150 ล้านคน ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา
โครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือประกอบด้วยสามเส้นทาง โดยเส้นทางสายกลางถือเป็นเส้นทางที่โดดเด่นที่สุด เนื่องจากมีบทบาทในการส่งน้ำไปยังเมืองหลวงของประเทศ เส้นทางนี้เริ่มต้นจากอ่างเก็บน้ำตานเจียงโข่วในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน ไหลผ่านมณฑลเหอหนานและมณฑลเหอเป่ย ก่อนถึงเทศบาลกรุงปักกิ่งและเทศบาลนครเทียนจิน โดยเส้นทางนี้เริ่มส่งน้ำมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557
สำหรับเส้นทางสายตะวันออกเริ่มส่งน้ำในเดือนพฤศจิกายน 2556 โดยผันน้ำจากมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงเทศบาลนครเทียนจินและมณฑลซานตง
ส่วนเส้นทางสายตะวันตกอยู่ในขั้นตอนของการวางแผนและยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง
การสร้างอภิมหาโครงการยิ่งใหญ่ระดับนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมากไม่ว่ากับประเทศใดก็ตาม โดยความยากลำบากมีตั้งแต่งานวิศวกรรม การอนุรักษ์ระบบนิเวศ ไปจนถึงการย้ายถิ่นฐานของประชาชนจำนวนมากตลอดเส้นทาง
ในอำเภอซีฉวน เมืองหนานหยาง มณฑลเหอหนาน ประชาชนราว 367,000 คนต้องย้ายออกจากพื้นที่เพื่อเปิดทางให้โครงการนี้
ชาวบ้านในหมู่บ้านโจวจ้วงในอำเภอซีฉวน ซึ่งเคยเลี้ยงชีพด้วยการปลูกข้าวโพดและข้าวสาลี ได้เปลี่ยนมาทำสวนกีวีโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานในท้องถิ่น จนตอนนี้ชาวบ้านมีรายได้มากกว่าเดิม จากการเปิดเผยของคุณโจว อวี้หัว (Zou Yuhua) เจ้าหน้าที่ในหมู่บ้าน
มีหลายปัจจัยที่ทำให้จีนสามารถเอาชนะอุปสรรคนานัปการและทำให้อภิมหาโครงการนี้เกิดขึ้นจริง แต่หัวใจสำคัญคือความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
“ตราบเท่าที่ยังยึดมั่นในหลักการพื้นฐาน งานทั้งหมดก็จะเรียบร้อย” ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวในพิธีเปิดการประชุมว่าด้วยการศึกษาและการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพรรค เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการคงไว้ซึ่งอำนาจ และความเป็นผู้นำแบบรวมศูนย์ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ความมหัศจรรย์ของจีน
“ตราบเท่าที่ยังยึดมั่นในหลักการพื้นฐาน งานทั้งหมดก็จะเรียบร้อย”
คำกล่าวนี้มาจากจดหมายเหตุวสันตสารท (Lyu Shi Chun Qiu หรือ Master Lyu’s Spring and Autumn Annals) ซึ่งเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจีนที่รวบรวมในช่วง 239 ปีก่อนคริสตกาล ภายใต้การอุปถัมภ์ของ หลี่ ปู้เหว่ย (Lyu Buwei) อัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉิน โดยมีความหมายว่า เมื่อเปิดปากอวนแล้ว ทุกอย่างก็จะเข้าที่ นั่นคือต้องเข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดเพื่อให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม จากนั้นก็จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
คำกล่าวนี้คือตรรกะเบื้องหลังระบบการเมืองของจีนในปัจจุบัน และอธิบายว่าเหตุใดจีนจึงสามารถบรรลุอภิมหาโครงการอย่างโครงการผันน้ำจากใต้สู่เหนือได้ เนื่องจากในระบบของจีนนั้น หน่วยย่อยของพรรคมีบทบาทสำคัญในทุกอณูของระบบเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่ระดับบน ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน ดังนั้น ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สังคมทั้งสังคมจึงขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชน
นี่คือความมหัศจรรย์ของจีน โดยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประชากร 1.4 พันล้านคนได้ทำให้ภารกิจที่ยากลำบากบรรลุผลสำเร็จได้
“เราต้องเสริมสร้างและคงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำแบบรวมศูนย์ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน” นายสี จิ้นผิง กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
“เราจะพัฒนาระบบผู้นำ โดยให้พรรคเป็นผู้นำในภาพรวมและเป็นผู้ประสานความพยายามของทุกฝ่าย” เขากล่าว “สิ่งนี้จะรักษาความเป็นปึกแผ่นและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรคเอาไว้”
ความเป็นผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การย้ายถิ่นฐานของชาวบ้านในอำเภอซีฉวนเป็นไปอย่างราบรื่น โดยหน่วยงานในท้องถิ่นได้จัดอบรมเทคนิคการปลูกกีวี และจัดระเบียบการขายผ่านสหกรณ์ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น คุณโจว อวี้หัว กล่าวเสริมว่า หมู่บ้านโจวจ้วงตั้งเป้าว่าจะขยายพื้นที่ทำสวนผลไม้จาก 33-40 เฮกตาร์ในปัจจุบัน เป็น 200 เฮกตาร์ในอนาคต
ชาวบ้านพอใจกับสิ่งที่ได้รับในทุกวันนี้ “ตอนนี้เกือบทุกครอบครัวมีรถยนต์ใช้แล้ว” คุณโจวกล่าว พร้อมกับเน้นย้ำว่าการย้ายถิ่นฐานเป็นการมอบโอกาสที่ดีกับชาวบ้านอย่างแท้จริง
https://news.cgtn.com/news/2023-06-01/Why-can-China-accomplish-a-mega-water-diversion-project–1kh6jaRlydG/index.html