BCA ม.พะเยา ร่วมกับชุมชน จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ “คึดฮอดอีหลี”
คณะบริหารธุรกิจและนิเทศศาสตร์ สาขาการท่องเที่ยว ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ของกลุ่มโฮมสเตย์อีสาน-ล้านนา ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นการยกระดับชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีสานล้านนาสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และมีโครงการย่อยอีก ๔ โครงการ คือ การพัฒนาพื้นที่และกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดย ดร.นิรมล พรมนิล และดร. สาธิต เชื้ออยู่นาน การใช้ภาพถ่ายเพื่อการสื่อสารการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ โดย อ. พีรญา รัตนจันท์วงศ์ การสื่อสารสารตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดย อ. นวพร เกษสุวรรณ และการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินโครงการ โดย อ.สาธิต เชื้ออยู่นาน
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2565 “กลุ่มโฮมสเตย์อีสานล้านนา” มีการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community based tourism) ที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของการอยู่ร่วมกันของชุมชนพหุวัฒนธรรม (Multicultural community) ระหว่างชาวไทยอีสานและไทยภาคเหนือภายใต้งาน “คึดฮอดอีหลี” ณ ชุมชนอีสาน-ล้านนา ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เพื่อเป็นการทดสอบแนวทางการยกระดับชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีสานล้านนาสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการวิจัยที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมภายในงาน ที่ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ทอผ้า กลุ่มท่องเที่ยวอีสาน-ล้านนา รับชม วีดีทัศน์แนะนำชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ท่องเที่ยวเที่ยวชมหมู่บ้าน และร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวสร้างสรรค์ชมการจักสานเครื่องใช้ในครัวเรือนตามวิถีของชาวอีสาน ผสมผสานความอ่อนช้อยของล้านนา การทำขนมพื้นบ้าน การทอเสื่อตามวิธีแบบชาวอีสาน จากกกราชีนี หรือ กกไหล ซึ่งโบราณเชื่อว่าไหลเงินไหลทองเข้าบ้าน การทดลอง “ย่ำข่าง” การนวดทางเลือก แก้ปวดเมื่อยฉบับล้านนา การทำกาแฟแบบดั้งเดิม ทุกท่านจะได้เรียนรู้และทดลองคั่วกาแฟด้วยมือแบบดั้งเดิม และทดลองกราฟแคคตัส ด้วยการนำหัวแคคตัสมาต่อบนตอ และในช่วงเย็นร่วมสนุกสนานกับเครื่องดนตรีอีสานและล้านนา การทำตาแหลวมงคลพวงกุญแจเป็นของที่ระลึก ร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ ชมการแสดงสีสันแห่งอีสานความงามแห่งล้านนา และชมหนังกลางแปลงรับประทานอาหารแบบขันโตก ณ ลานวัดใหม่ราษฎร์บำรุง ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
ทั้งนี้ กลุ่มโฮมสเตย์อีสาน-ล้านนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ศักยภาพสูงที่สุด จากแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 21 แห่ง ในอำเภอดอกคำใต้ ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาดูงานด้านรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างรายได้การท่องเที่ยว และชุมชนยังไม่สามารถดึงคุณค่าเอกลักษณ์ด้านวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และองค์ความรู้ ออกมาสร้างสรรค์ให้เกิดความน่าสนใจและดึงดูดใจแก่นักท่องเที่ยว ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยววัฒนธรรมที่ผสมผสานร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย และมีกิจกรรมที่ทันสมัย โดยมีวัฒนธรรมเป็นฐาน ยกระดับและพัฒนาการ กลุ่มโฮมสเตย์อีสาน ล้านนา สู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ขยายขอบเขต และระดับความเข้มข้นของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างรายได้ให้กับชุมชน นำไปสู่เป้าหมายของการเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามปณิธานมหาวิทยาลัยพะเยา “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน”