เมอร์คเปิดตัวแพลตฟอร์มผลิตไวรัสเอเอวี VirusExpress(R) 293 ขึ้นแท่นบริษัทรับจ้างพัฒนาและผลิตรายแรก ๆ ที่ให้บริการไวรัลเวคเตอร์เต็มรูปแบบ

ลดเวลาในการพัฒนากระบวนการลงได้ราว 40%

เปิดโอกาสให้บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์เร่งให้ถึงขั้นผลิตในระดับคลินิกได้

ต่อยอดแพลตฟอร์มผลิตเล็นทิไวรัส VirusExpress(R) อันล้ำหน้าของทางบริษัท

เมอร์ค (Merck) บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์มผลิตไวรัสเอเอวี (Adeno-Associated Virus หรือ AAV) อย่าง VirusExpress(R) 293 ทำให้เมอร์คเป็นบริษัทรับจ้างพัฒนาและผลิต (CDMO) และผู้พัฒนาเทคโนโลยีรายแรก ๆ ที่ให้บริการผลิตไวรัลเวคเตอร์เต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสเอเอวี เล็นทิไวรัส บริการ CDMO, CTO และการพัฒนากระบวนการ แพลตฟอร์มใหม่นี้เปิดโอกาสให้บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์เร่งความเร็วให้ถึงขั้นผลิตในระดับคลินิกได้ พร้อมลดเวลาและต้นทุนในการพัฒนาในคราวเดียวกัน

“เซลล์และยีนบำบัดเปิดโอกาสในการคิดค้นเทคนิครักษาโรค และนำมาใช้ในทางการค้าได้โดยใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับกลวิธีแบบเดิม ๆ” เดิร์ค เลนจ์ (Dirk Lange) หัวหน้าแผนกธุรกิจบริการชีววิทยาศาสตร์ ประจำธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ของเมอร์ค กล่าว “แพลตฟอร์มผลิตไวรัสเอเอวี VirusExpress(R) 293 ของเรา ช่วยเพิ่มปริมาณโดสและลดเวลาในการพัฒนากระบวนการลงได้อย่างมาก เพื่อเร่งการผลิตเทคนิครักษาโรคเหล่านี้ และท้ายที่สุดก็จะทำให้ส่งมอบการรักษาที่ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เร็วขึ้น”

แพลตฟอร์มใหม่นี้เข้ามาต่อยอดบริการ VirusExpress(R) ของเมอร์ค ซึ่งลดเวลาในการพัฒนากระบวนการลงได้ถึง 40% ตามประสบการณ์ในการรับจ้างพัฒนาและผลิตของเมอร์ค โดยแพลตฟอร์มผลิตเล็นทิไวรัส VirusExpress(R) ของเมอร์ค เปิดโอกาสให้ลูกค้าเร่งความเร็วให้ถึงขั้นผลิตในระดับคลินิกได้ ได้ไตเตอร์มากกว่าคู่แข่งถึง 5 เท่า และเปลี่ยนจากการใช้ระบบขั้นตอนเดิมเป็นโซลูชันแบบมีเทมเพลต

แพลตฟอร์ม VirusExpress(R) ของเมอร์ค มอบกระแสงานระดับต้นน้ำที่เรียบง่ายสำหรับการผลิตไวรัสเอเอวีและเล็นทิไวรัส ทำให้ควบคุมดูแล ปรับเปลี่ยน และปรับขนาดกระบวนการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และนอกเหนือจากการเร่งเวลาพัฒนากระบวนการแล้ว รูปแบบการเลี้ยงเซลล์แขวนลอยยังทำให้ได้ผลผลิตแบบแบตซ์มากขึ้น และทำให้ได้โดสมากขึ้นตาม นอกจากนี้ การเลี้ยงเซลล์แขวนลอยยังรองรับกระบวนการผลิตอย่างจริงจังด้วย แต่ใช้แรงคนลดลง ขณะที่อาหารเลี้ยงเซลล์แบบสังเคราะห์ยังทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัย การกำกับดูแล และซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบจากมนุษย์และสัตว์ ส่วนโมเดลการให้สิทธิ์แบบยืดหยุ่นเปิดโอกาสให้บริษัทต่าง ๆ นำขีดความสามารถและความเชี่ยวชาญในการรับจ้างผลิตของเมอร์คไปใช้ผลิตเวคเตอร์ได้ โดยเข้าถึงเทมเพลตได้ทั้งแบบต้นน้ำและปลายน้ำ หรือจะใช้การพัฒนาในองค์กรหรือบุคคลภายนอกก็ได้

ธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ของเมอร์คเป็นธุรกิจรับจ้างพัฒนาและผลิตระดับแถวหน้า และได้เข้ามามีบทบาทในแวดวงนี้นับตั้งแต่ที่ได้เริ่มศึกษาทดลองการทำยีนบำบัดในระดับคลินิกเมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2564 บริษัทได้เปิดโรงงานแห่งที่สองของบริษัทในเมืองคาร์ลสแบด รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเพิ่มกำลังการผลิตเดิมได้กว่าเท่าตัว เพื่อรองรับการผลิตทางการค้าในปริมาณมาก

ข่าวประชาสัมพันธ์ของเมอร์คทั้งหมดได้รับการเผยแพร่ผ่านทางอีเมลในเวลาเดียวกับที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของเมอร์ค กรุณาเข้าไปที่ www.merckgroup.com/subscribe เพื่อลงทะเบียนออนไลน์ เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกบริการนี้

เกี่ยวกับเมอร์ค

เมอร์ค คือบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ โดยมีการดำเนินงานครอบคลุมด้านชีววิทยาศาสตร์ การดูแลสุขภาพ และอิเล็กทรอนิกส์ พนักงานกว่า 60,000 คนของบริษัทต่างทุ่มเทในการสร้างความแตกต่างที่ดีต่อชีวิตของผู้คนหลายล้านคนในทุก ๆ วัน ด้วยการนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตที่มีความสุขและยั่งยืนยิ่งขึ้น เมอร์คเป็นทั้งผู้พัฒนาเทคโนโลยีตัดต่อยีน ไปจนถึงการเสาะหากลวิธีใหม่ ๆ ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ท้าทายที่สุด ตลอดจนการคิดค้นอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยในปี 2564 เมอร์คทำยอดขายได้ 1.97 หมื่นล้านยูโร ใน 66 ประเทศ

การสำรวจทางวิทยาศาสตร์และการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ คือหัวใจหลักในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเมอร์ค ทั้งยังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเมอร์คนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2211 ปัจจุบัน ครอบครัวผู้ก่อตั้งยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมอร์คครอบครองสิทธิ์ในชื่อและแบรนด์เมอร์คทั่วโลก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ซึ่งหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ของเมอร์คดำเนินงานภายใต้ชื่อ มิลลิพอร์ซิกมา ในวงการชีววิทยาศาสตร์, อีเอ็มดี เซโรโน ในวงการดูแลสุขภาพ และอีเอ็มดี อิเล็กทรอนิกส์ ในวงการอิเล็กทรอนิกส์

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1874155/Merck_VirusExpress.jpg