องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เผยรายงานล่าสุดชี้สายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ (Ethiopian Airlines) ขนส่งสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตจากแอฟริกาไปสู่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพื่อนำไปขายต่อเป็นสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ (Exotic Pets) สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดใหม่ในอนาคต ทำลายสวัสดิภาพสัตว์และความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า
รายงาน ‘Cargo of Cruelty’ ได้สรุปผลการวิเคราะห์การมีส่วนเกี่ยวข้องของสายการบินในส่งเสริมขบวนการค้าสัตว์ป่าทั่วโลกผ่านการตรวจสอบความเคลื่อนไหวบนโซเชียลมีเดีย พบว่าการส่งออกสัตว์ป่าที่ยังมีชีวิตข้ามทวีปเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการนำสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง แม้ว่าผู้ค้าไม่มีใบอนุญาต ขณะที่มาตรการควบคุมและกำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ นอกจากนี้ รายงานยังพบการค้าที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและกฎหมายระหว่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่า การมีกฎหมายไม่สามารถช่วยให้กระบวนการค้าสัตว์ป่าเป็นไปอย่างปลอดภัย ยั่งยืน และมีมนุษยธรรม
เอธิโอเปียนแอร์ไลน์เป็นสายการบินขนาดใหญ่ของภูมิภาคเเอฟริกาที่เอื้อประโยชน์ต่อการสร้างเครือข่ายลักลอบค้าสัตว์ป่า โดยรายงาน Cargo of Cruelty ระบุว่า เอธิโอเปียนแอร์ไลน์เป็นสายการบินที่ขนส่งสัตว์ออกจากทวีปแอฟริกาตะวันตกมากที่สุด ซึ่งสัตว์ป่าที่ถูกจับมาเป็นสินค้ารวมถึงสัตว์ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ สายพันธุ์ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน หรือสายพันธุ์ที่ประชากรมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง การกระทำดังกล่าวทำให้สัตว์ป่าต้องทุกข์ทรมานจากการถูกกักขังในสภาพแวดล้อมย่ำแย่ ตกอยู่ในสภาวะตึงเครียด เสี่ยงต่อการล้มป่วย และอาจตายจากอาการติดเชื้อ สัตว์ป่าเหล่านี้ถูกเสนอขายบนโซเชียลมีเดียและถูกขนส่งประมาณ 9 ครั้งต่อเดือน ไปยังอย่างน้อย 18 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย การขนส่งเกิดขึ้นอย่างน้อยบน 13 เส้นทางผ่านสายการบินหลายเจ้า โดยจากรายงานพบว่า ในการขนส่งผ่านเอธิโอเปียนแอร์ไลน์อย่างน้อย 5 ครั้ง มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลาน อาทิ เต่า งู กิ้งก่ามอนิเตอร์ กิ้งก่าคาเมเลี่ยน และพังพอน ถูกส่งไปยังจุดหมายปลายทางหลายเมืองทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพฯ ขบวนการค้าสัตว์ป่าในระดับสากลไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะล่มสลายของระบบนิเวศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังก่อให้เกิดหายนะต่อความมั่นคงทางชีวภาพ โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า 70% ของโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนมีสาเหตุมาจากสัตว์ป่าที่ถูกกักขังในสภาพแวดล้อมย่ำแย่และใกล้ชิดแหล่งชุมชน ซึ่งนับเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคสู่มนุษย์ที่สำคัญ
รายงาน Cargo of Cruelty ยังนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความหลากหลายและการขยายตัวของเส้นทางค้าสัตว์ป่าข้ามชาติ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในทวีปแอฟริกาตะวันตก นับเป็นศูนย์กลางและผู้ส่งออกสำคัญของตลาดสัตว์ป่าโลก โดยรายงานมีใจความสำคัญ ดังนี้ :
· พบเจ้าของบัญชีโซเชียลมีเดีย 2 ราย ในสาธารณรัฐโตโก โฆษณาขายและส่งออกสัตว์ป่ามากกว่า 200 สายพันธุ์ โดยเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังมากถึง 187 สายพันธุ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง 2563
· กว่า 7% ของสัตว์ป่าที่ถูกเสนอขายบนโซเชียลมีเดียล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable: VU) ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN) หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered: CR) ตามบัญชี IUCN Red List สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่สัตว์ที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ก็ไม่สามารถหลีกหนีขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าได้
· เครื่องบินอย่างน้อย 4 ลำ จากทั้งหมด 33 ลำของเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ถูกตรวจสอบ และพบว่าขนส่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ก่อให้เกิดความกังวลด้านความมั่นคงทางชีวภาพ เช่น ชะมดแอฟริกา สัตว์ตระกูลไพรเมต และพังพอนบึง ไปยังหลายประเทศ อาทิ อิตาลี เกาหลีใต้ ไทย และมาเลเซีย
· สัตว์ในวงศ์ชะมดและอีเห็น กิ้งก่า เต่าซูลคาต้า ซาวันน่ามอนิเตอร์ งูพิษพุ่มไม้ กิ้งก่าคาเมเลี่ยน และแมงป่อง เป็นสัตว์ที่ถูกขนส่งไปยังต่างประเทศโดยเอธิโอเปียนแอร์ไลน์มากที่สุด
นอกจากนี้ มีข้อกังวลเกิดขึ้นในประเด็นที่สายการบินเอธิโอเปียไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATAS) เกี่ยวกับการขนส่งสัตว์มีชีวิต (https://www.iata.org/en/programs/cargo/live-animals/) ข้อกังวลนี้ ได้รับการพูดถึงในรายงาน Cargo of Cruelty ที่ตีแผ่ถึงการเข้าตรวจสอบเต่าที่ถูกรวบมัดอย่างหนาแน่นขณะขนส่ง และดิ้นรนเพื่อยืดหัวและลำคอออกมา สายการบินที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบของสมาคมฯ ควรต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ในขณะเดียวกัน ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการขนส่งสัตว์ใกล้สูญพันธุ์จำนวนมากที่อยู่ภายใต้การควบคุมของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) จากประเทศต้นทางอย่างสาธารณรัฐโตโก และประเทศกานา โดยไม่ได้ขอใบอนุญาต หรือมีจำนวนสัตว์ป่าส่งออกเกินกว่าจำนวนของโควตาที่ได้กำหนดไว้
Edith Kabesiime ผู้จัดการโครงการสัตว์ป่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า “ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรับมือกับปัญหาโรคระบาด อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจดจำ นั่นคือ โรคระบาดครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร และจุดเริ่มต้นคือการค้าขายสัตว์ป่า วันนี้ คำสั่งห้ามเดินทางระหว่างประเทศเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคยังมีผลบังคับใช้ มันเป็นเรื่องน่าตกใจที่ได้เห็นว่า แรงสั่นสะเทือนจากกิจกรรมค้าสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางชีวภาพกลับไม่ได้รับความสนใจ เราอาจถูกเชื้อโรคโจมตีได้ เนื่องจากเชื้อโรคดังกล่าวหลบซ่อนอยู่ในสัตว์ป่าและก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่ได้ในที่สุด ดังนั้น เราจำเป็นต้องหยุดการแพร่กระจายเชื้อโรคนี้ โดยวิธีที่ได้ผลดีที่สุดและนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คือ เราต้องหยุดการขนส่งสัตว์ป่าด้วยเครื่องบิน และการตรวจสอบเส้นทางการค้าสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ขอเรียกร้องให้สายการบินเอธิโอเปียและสายการบินอื่น ร่วมกันหยุดยั้งกระบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางชีวภาพในทันที เพื่อช่วยไม่ให้สายการบินตกเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการผิดกฎหมายที่หากินกับสัตว์ป่าจากการขายพวกมันสู่ตลาดสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ
อ่านรายงาน ‘Cargo of Cruelty’ shorturl.at/dqOP9
เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO), องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health: OIE) และองค์การควบคุมสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP)* ออกมาเรียกร้องนานาประเทศให้ร่วมกันยุติการซื้อขายสัตว์ที่มีชีวิตตามท้องตลาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต
รัฐบาลประเทศอิตาลีได้ประกาศแบนการค้าขายสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศที่เหลือในกลุ่ม G20 ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องและอนุรักษ์สัตว์ป่าเช่นเดียวกัน**
ในขณะที่สายการบินตุรกีและ Turkish Cargo ประกาศยุติการขนส่งนกแก้วเทาแอฟริกันจากประเทศแอฟริกาในปี พ.ศ.2562 ทุกท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้าสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ ได้ด้านล่าง
* WHO, OIE and UNEP (12th April 2021) Reducing public health risks associated with the sale of live wild animals of mammalian species in traditional food markets.
** http://www.senato.it/leg/18/BGT/Schede/Ddliter/53883.htm