องค์กรการกุศลให้คำมั่นมอบเงิน 5 พันล้านมุ่งอนุรักษ์ธรรมชาติทั่วโลก

การประกาศครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์นี้ เกิดขึ้นหลังจากประเทศสมาชิกอาเซียนเรียกร้องเงินทุนเพิ่มเติม สำหรับความตกลงว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก

ในงานประชุมระดับสูงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 76 องค์กรการกุศล 9 แห่งได้เปิดตัวโครงการ “Protecting Our Planet Challenge” และได้สัญญาว่าจะมอบเงิน 5 พันล้านดอลลาร์ [ https://newsroom.wcs.org/News-Releases/articleType/ArticleView/articleId/16685/Private-Funders-of-the-New-Protecting-Our-Planet-Challenge-Announce-5-Billion-Commitment-to-Protect-and-Conserve-30-of-Planet-by-2030.aspx ] เพื่อปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่ 30% ของโลกภายในปี 2030 ด้วยการสนับสนุนพื้นที่อนุรักษ์และการดูแลพื้นที่โดยชนพื้นเมือง นับเป็นพันธกิจการกุศลในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา

เป้าหมาย 30×30 ที่ยึดหลักวิทยาศาสตร์เป็นองค์ประกอบสำคัญของร่างยุทธศาสตร์ 10 ปีของการประชุมว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติ (Convention on Biological Diversity) [ https://www.cbd.int/doc/c/914a/eca3/24ad42235033f031badf61b1/wg2020-03-03-en.pdf ] ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติในการประชุม COP15 ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน ในเดือนเมษายน 2022 ผู้นำกลุ่มชนพื้นเมืองยินดีกับการประกาศครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนว่าเป้าหมาย 30×30 ส่งเสริมประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ด้วย

ในการเจรจาในที่ประชุมว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติก่อนหน้านี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ชูประเด็นสำคัญในเรื่องการเงินที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยงานวิจัยสำคัญ [ https://www.paulsoninstitute.org/key-initiatives/financing-nature-report/ ] พบว่า การใช้จ่ายของโลกในด้านความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบันจำเป็นต้องเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เท่า เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดทั่วโลก

ในงานประชุมดังกล่าวยังมีผู้นำประเทศ ผู้นำกลุ่มชนพื้นเมือง และเจ้าหน้าที่สหประชาชาติระดับสูงกว่าสิบราย และได้นำไปสู่การให้คำมั่นสัญญาจากรัฐบาลและสถาบันพหุภาคีว่าจะช่วยปิดช่องว่างด้านเงินทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ผู้นำจากภูมิภาคอาเซียนตอบสนองต่อการประกาศครั้งนี้ดังต่อไปนี้

Ms. Vicky Tauli Corpus ประธานคณะกรรมการ Nia Tero และอดีตผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนพื้นเมือง กล่าวว่า

“การลงทุนด้านสิทธิชนพื้นเมืองและการปกป้องเขตแดนของพวกเขา เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญสูงสุดและถูกมองข้ามมากที่สุด ในการจัดการกับภัยคุกคามที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของโลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะองค์กรที่มุ่งเสริมสร้างการปกป้องระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์โดยชนพื้นเมือง เราขอยกย่องผู้มอบเงินทุนระดับแนวหน้าที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการขยายการสนับสนุนเส้นทางสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย 30×30”

Dr. Theresa Mundita Lim กรรมการบริหารศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวว่า

“การประกาศการมอบเงินทุนครั้งนี้ ถือเป็นข่าวดีสำหรับธรรมชาติและเป็นข่าวดีสำหรับภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นการส่งข้อความสำคัญไปยังประเทศต่าง ๆ ที่พร้อมจะปกป้องหรืออนุรักษ์พื้นที่บนบกหรือในทะเลเพิ่มเติมว่า มีเงินทุนที่พร้อมจะสนับสนุน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมาย 30×30 ของโลก ซึ่งจะสำเร็จได้ก็จำเป็นต้องมีการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอ”

ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศไทย กล่าวว่า

“การประกาศครั้งนี้เป็นสิ่งที่หลายคนในภูมิภาคนี้หวังให้เกิดขึ้น ด้วยเงินทุนที่เพียงพอ ข้อเสนอสำคัญอย่างเป้าหมาย 30×30 ไม่เพียงเป็นเรื่องจำเป็น แต่นับจากนี้ยังเป็นไปได้จริง ผมขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนับสนุนเป้าหมาย 30×30 ของโลก และเริ่มคิดว่าพวกเขาจะมีส่วนผลักดันการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างไร”

Dr. Zakri Abdul Hamid ตัวแทนและที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของ Campaign for Nature และอดีตที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า

“ผมยินดีที่ได้เห็นว่ามีเงินทุนมอบให้กับการปกป้องและอนุรักษ์พื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น และตั้งตารอที่จะได้เห็นประเทศสมาชิกอาเซียนมุ่งบรรลุเป้าหมาย 30×30 ของโลกยิ่งกว่าเดิม วิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เป้าหมายดังกล่าวเป็นขั้นต่ำของระดับการอนุรักษ์ที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อจำกัดการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติของโลก งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ยังชี้ว่าการบรรลุเป้าหมาย 30×30 จะสร้างงานและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย”

KM Reyes กรรมการบริหารร่วมและผู้ร่วมก่อตั้ง Centre for Sustainability ฟิลิปปินส์ กล่าวว่า

“การมอบเงินทุนสนับสนุนชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นโดยตรงซึ่งอยู่ด่านหน้าของพื้นที่ทางธรรมชาติ เป็นทางเดียวที่เราจะสามารถเอาชนะวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพและวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังเผชิญอยู่ ดิฉันขอชื่นชมกลุ่มการกุศลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อปกป้องอนาคตของเรา รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ต้องทำเช่นเดียวกัน”