สมาพันธ์ทันตแพทย์โลกประกาศแถลงการณ์ฉันทามติว่าด้วยการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืน

ปูทางไปสู่การพัฒนาประมวลหลักปฏิบัติที่ดี

– ดูภาพได้ที่เว็บไซต์ AP Images (http://www.apimages.com) –

สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI World Dental Federation) ประกาศแถลงการณ์ฉันทามติว่าด้วยการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม (Consensus Statement on Environmentally Sustainable Oral Healthcare) เป็นครั้งแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้วงการทันตกรรมใช้แนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และท้ายที่สุดนำไปสู่การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาคส่วนนี้

แถลงการณ์ฉันทามติดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ ณ การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษที่จัดขึ้นโดยสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก ซึ่งรวบรวมผู้ที่มีบทบาทสำคัญจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งผู้นำในอุตสาหกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย และสมาคมทันตกรรม

ศาสตราจารย์ อิห์ซาน เบน ยาห์ยา (Ihsane Ben Yahya) ประธานสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก และคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพโมฮัมเหม็ด เดอะ ซิกซ์ (Mohammed VI University of Health Sciences) ในเมืองคาซาบลังกา ประเทศโมร็อกโก กล่าวว่า “หลายคนคงรู้สึกแปลกใจเมื่อได้รู้ว่าแวดวงสุขภาพปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 5% ของทั้งหมดทั่วโลก และภาคทันตกรรมก็มีส่วนสำคัญ”

“ภาคทันตกรรมต้องมีส่วนรับผิดชอบในการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และแถลงการณ์ฉันทามติในวันนี้ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยแถลงการณ์ฉันทามติสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนทันตกรรมมีความตระหนักมากขึ้นว่าเราต้องยกระดับสุขภาพช่องปากด้วยวิธีการที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ สุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นหมายถึงโลกที่ดีขึ้น”

การดูแลสุขภาพช่องปากมีส่วนในการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการเพิ่มมลพิษทางอากาศ อันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางและการขนส่ง, การเผาขยะ, การขาดบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้, การใช้ก๊าซเพื่อให้เกิดอาการชา เช่น ไนตรัสออกไซด์ และการใช้น้ำในปริมาณมาก

แถลงการณ์ฉันทามติได้ระบุถึงปัจจัยอันซับซ้อนที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมและแนวปฏิบัติในปัจจุบัน พร้อมกับแนะนำกลยุทธ์ในการแก้ไขโดยอ้างอิงแนวคิด 4 R ได้แก่ Reduce (ลดการใช้), Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่), Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Rethink (คิดใหม่)

แม้ว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบางอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงการตรวจรักษาทางทันตกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำในการดูแลสุขภาพช่องปาก แต่ก็สามารถพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอ โดยเน้นไปที่การป้องกันพร้อมกับส่งเสริมสุขอนามัยในช่องปากที่ดี การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลน้อย และการงดสูบบุหรี่

ศาสตราจารย์ นิโคลัส มาร์ติน ประธานคณะทำงานโครงการความยั่งยืนในวงการทันตกรรมของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI Sustainability in Dentistry Task Team) และศาสตราจารย์คลินิกสาขาทันตกรรมบูรณะ วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา โดยถือเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการลดการแทรกแซงทางการแพทย์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

“เมื่อจำเป็นต้องทำการรักษา การรักษาสุขภาพช่องปากควรให้ความสำคัญกับการอุดฟันที่มีความคงทน โดยใช้ผลิตภัณฑ์และวัสดุคุณภาพสูงซึ่งอยู่ได้นานกว่า และ/หรือ ต้องทำใหม่น้อยกว่า”

ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉันทามติได้รับการสนับสนุนจากบทวิจารณ์ขนาดสั้นในหัวข้อ “การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืน แนวปฏิบัติร่วมกันของทุกฝ่าย” (Sustainable Oral Healthcare – A Joint Stakeholder Approach) ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ทางวารสารอินเตอร์เนชันแนล เดนทัล เจอร์นัล (International Dental Journal)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ไมเคิล เคสส์เลอร์ (Michael Kessler)
ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก
มือถือ: + 34 655 792 699
อีเมล: michael.kessler@intoon-media.com

เกี่ยวกับสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก

สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก เป็นตัวแทนของทันตแพทย์กว่า 1 ล้านคนทั่วโลก สมาชิกขององค์กรประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและสมาคมทันตกรรมระดับชาติกว่า 200 แห่ง ในกว่า 130 ประเทศ พันธกิจขององค์กรคือการเป็นผู้นำในการทำให้ประชากรโลกมีสุขภาพช่องปากที่ดี สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fdiworlddental.org/

เกี่ยวกับโครงการความยั่งยืนในวงการทันตกรรม

โครงการความยั่งยืนในวงการทันตกรรม (Sustainability in Dentistry) ของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในวงการทันตกรรม โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ปฏิบัติงานด้านทันตกรรม ผู้ป่วย และห่วงโซ่อุปทาน โครงการนี้จะสร้างชุดเครื่องมือและทรัพยากรสำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีการจัดทำแถลงการณ์ฉันทามติ (Consensus Statement) ภายใต้ความร่วมมือของหลายฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประมวลหลักปฏิบัติที่ดี (Code of Good Practice) เพื่อให้แนวทางและเป้าหมายในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน และจะมีการลงนามโดยพันธมิตรทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดยพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งของเรา ได้แก่ คอลเกต (Colgate), จีเอสเค คอนซูมเมอร์ เฮลธ์แคร์ (GSK Consumer Healthcare), เดนท์สพลาย ซิโรน่า (Dentsply Sirona), พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter & Gamble) และทีพี (TePe) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fdiworlddental.org/sustainability-dentistry