ทีเอ็มเอฟ กรุ๊ป (TMF Group) ผู้ให้บริการด้านการปฏิบัติตามข้อกำหนดและงานธุรกิจ ได้เปิดตัวดัชนีความซับซ้อนในการทำธุรกิจระดับโลก (Global Business Complexity Index หรือ GBCI) ขึ้นเป็นครั้งที่ 9
รายงานที่ครอบคลุมนี้วิเคราะห์ 77 ประเทศและเขตปกครอง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 92% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมทั้งโลก และ 95% ของยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สุทธิทั่วโลก โดยเปรียบเทียบตัวชี้วัด 292 รายการที่ติดตามทุกปี ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจในแง่มุมต่าง ๆ เช่น กฎ ระเบียบ อัตราภาษี กรอบเวลาในการก่อตั้งนิติบุคคล บัญชีเงินเดือนและสวัสดิการ บทลงโทษ และปัจจัยอื่น ๆ ในเรื่องการปฏิบัติตามข้อกำหนด
ผลการศึกษาประจำปี 2565 พบว่า ฮ่องกงเป็นสถานที่ที่ทำธุรกิจง่ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ขณะที่อินโดนีเซียและจีนเกือบติดกลุ่มหัวตารางซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจยาก เพราะทั้งสองประเทศมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก แต่ก็ถือว่าอันดับดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยอินโดนีเซียหลุด 10 อันดับกลุ่มประเทศทำธุรกิจยากแล้ว
แม้ฮ่องกงจะถูกจีนเข้ามาควบคุมมากขึ้นทั้งในทางกฎหมายและเศรษฐกิจตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ แต่ก็ยังเป็นสถานที่ที่บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้ง่าย โดยผลกระทบทางตรงต่อการลงทุนและกิจกรรมจากต่างประเทศอาจอยู่ในวงจำกัดขณะนี้ ในขณะที่ภาคธุรกิจเลือกที่จะ ‘รอดู’ ว่าอะไรรออยู่ข้างหน้า
รัฐบาลฮ่องกงยังได้กำหนดเป้าหมายเจาะจงในการพัฒนาอุตสาหกรรมกองทุนชั้นแนวหน้าด้วย โดยวางโครงสร้างกองทุนขึ้นมาใหม่เพื่อจำลองโมเดลกองทุนเคย์แมน และยกเว้นภาษีให้ผู้จัดการสินทรัพย์ ซึ่งหมายความว่าผู้จัดการสินทรัพย์แค่ต้องออกรายงานการปฏิบัติตามข้อกำหนดเพียงชุดเดียวให้กับทางการ และน่าจะช่วยดึงดูดผู้จัดการสินทรัพย์ให้นำเงินทุนจากเคย์แมนมาไว้ที่ฮ่องกงแทน
นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศในเอเชียแปซิฟิกไม่อยู่ในรายชื่อประเทศและดินแดน 10 อันดับแรกที่ทำธุรกิจยากที่สุด ซึ่งหมายความว่า ประเทศต่าง ๆ เช่น จีนและอินโดนีเซีย ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ในอันดับต้น ๆ ในแง่ของความซับซ้อนยุ่งยาก ได้ปรับปรุงขั้นตอนให้เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้นเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
จีนอยู่ในอันดับที่ 14 ประเทศที่ทำธุรกิจยากที่สุด (เทียบกับอันดับ 6 เมื่อปี 2563 และอันดับ 12 เมื่อปี 2564) เพราะกฎหมายและแนวปฏิบัติมักต่างไปจากมาตรฐานสากล อย่างไรก็ดี จีนได้นำเทคโนโลยีมาช่วยลดความยุ่งยาก และจีนเองก็พยายามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศด้วย โดยจีนมีแนวโน้มน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับบริษัทต่างชาติ และคาดว่าจะมีการออกกฎหมายและระเบียบที่เอื้ออำนวยกว่าเดิมในเรื่องข้อกำหนดหลักเนื้อหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จีนยังดูมีแนวโน้มว่าจะมีเสถียรภาพทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย
ชากุน คุมาร์ (Shagun Kumar) หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของทีเอ็มเอฟ กรุ๊ป กล่าวว่า “รายงานประเมินความซับซ้อนในการทำธุรกิจระดับโลกฉบับที่ 9 ของเรา แสดงให้เห็นความแตกต่างของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยดินแดนต่าง ๆ เช่น ฮ่องกงและออสเตรเลีย ได้รักษาตำแหน่งของตนเองในฐานะสถานที่ที่ลงทุนได้ง่ายเป็นอันดับต้น ๆ ขณะที่จีนและอินโดนีเซียยังคงถูกกดดันจากขั้นตอนที่ยุ่งยาก เปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งยังแตกต่างไปจากมาตรฐานสากล ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นแนวโน้มในการทำให้ขั้นตอนเหล่านี้ง่ายขึ้น และผ่อนปรนข้อกำหนดในประเทศสำหรับบริษัทต่างชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในระดับสากล”
นอกเหนือจากการวิเคราะห์สถานที่ทั้ง 77 แห่งแล้ว รายงานดังกล่าวยังเผยธีมหลักเบื้องหลังภูมิทัศน์แวดวงธุรกิจและสภาวะด้านการกำกับดูแลทั่วโลกด้วย
พ้นวิกฤติโควิด-19
ผลการศึกษาเผยว่า มาตรการบางอย่างที่กำลังใช้อยู่ เช่น การยกเว้นภาษี เพิ่มสิทธิของพนักงาน และเร่งนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ทำรายงาน กำลังถูกย้อนกลับไปยังสถานะเดิมก่อนการแพร่ระบาด
ความถี่ในการชำระภาษีโรงเรือนค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในการทำธุรกิจปรับตัวลดลงในช่วงที่วิกฤติโรคระบาดถึงขีดสุด อย่างไรก็ดี ในปี 2565 มีประเทศและดินแดนประมาณ 14% ที่กำหนดให้บริษัทบางแห่งหรือทุกแห่งจ่ายภาษีอย่างน้อยทุก 3 เดือน เมื่อเทียบกับ 9% เมื่อปี 2564
ในฝั่งทรัพยากรบุคคลและบัญชีเงินเดือนนั้น เทรนด์การทำงานทางไกลได้แพร่หลายขึ้นถึงระดับที่บังคับเป็นกฎหมายหรือกำหนดเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใน 31% ของประเทศและดินแดนในการศึกษา เทียบกับ 10% เมื่อปี 2563
การปฏิบัติตามข้อกำหนดและกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
รายงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นการเติบโตของความยุ่งยากและกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยผู้เชี่ยวชาญในประเทศและดินแดนส่วนใหญ่ (34% ในปี 2565 เทียบกับ 28% ในปี 2564) คาดการณ์ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นทัศนคติหลังโควิด-19 ในทางที่ดีเมื่อว่ากันในเรื่องโอกาสทางการลงทุน
เทคโนโลยียังคงมีบทบาททั้งในการเพิ่มและลดความยุ่งยาก การรู้ดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญ โดย 16% ของประเทศและดินแดนมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยอัตโนมัติหลังก่อตั้งนิติบุคคลแล้ว
ESG กำลังมาแรง
สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เป็นสิ่งที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นที่สนใจมากขึ้น แต่การบังคับใช้แนวปฏิบัติด้าน ESG ในทางกฎหมายยังมีให้เห็นเพียงประมาณ 50% ของประเทศและดินแดนทั้งหมด ซึ่งเด่นชัดเป็นพิเศษในประเทศนอกกลุ่มสหภาพยุโรป และสะท้อนให้เห็นว่าโลกไปคนละทาง การวัดผลลัพธ์ด้าน ESG จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
ESG กำลังมาแรงทั่วโลก โดยประเทศและดินแดนต่าง ๆ อย่างฝรั่งเศส รับหน้าที่เป็นผู้นำมาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ดี รัฐบาลหลายแห่งยังเพิ่งเริ่มต้น โดยได้เริ่มหาทางนำความริเริ่มและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ไปใช้บ้างแล้ว