รัฐบาลนานาประเทศต้องลงมือจัดการปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน

บริษัทพลังงานลมชั้นนำมากกว่า 100 แห่งเรียกร้องให้ประเทศภาคี “ความตกลงปารีส” ปรับปรุงการวางแผนและการอนุมัติโครงการพลังงานหมุนเวียน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายไฟฟ้า และพัฒนาตลาดพลังงานเพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วขึ้น

กลุ่มความร่วมมือระดับโลกของสมาคมและบริษัทพลังงานลมชั้นนำรวม 108 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 81% ของการติดตั้งพลังงานลมทั่วโลก ได้เรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานลมและพลังงานหมุนเวียนภายในทศวรรษนี้

หากทั่วโลกต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การติดตั้งพลังงานลมต่อปีทั่วโลกจำเป็นต้องเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายในปี 2573 สู่ระดับ 390 กิกะวัตต์ต่อปี จากการรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency) และภายในปี 2593 พลังงานลมจะต้องผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่าหนึ่งในสามของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากระดับ 6% ในปัจจุบัน

ทั่วโลกจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวและปลดปล่อยศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานลมอย่างเต็มที่ เพื่อจัดหาพลังงานที่ปลอดภัย ราคาไม่แพง และสะอาดให้แก่ชุมชนทั่วโลก

แถลงการณ์พลังงานลมโลกสำหรับการประชุม COP27 (Global Wind Energy Manifesto for COP27) เตือนว่า พลังงานลมเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีพลังงานที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุด เติบโตเต็มที่ และนำไปใช้งานได้อย่างรวดเร็วที่สุดในปัจจุบัน แต่การที่จะประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องมีปริมาณมาก มีความมั่นคงเพียงพอต่อการใช้งาน และมีห่วงโซ่อุปทานระดับโลกที่แข็งแกร่ง

การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยการลงมือทำอย่างจริงจังและชัดเจนตามที่ระบุในแถลงการณ์ ดังนี้

-เร่งปรับปรุงการวางแผนและการอนุมัติโครงการพลังงานหมุนเวียนระดับโครงข่ายไฟฟ้า
-เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายไฟฟ้าที่สำคัญ เพื่อบูรณาการพลังงานสะอาดและการลดคาร์บอนจากภาคส่วนต่าง ๆ
-พัฒนาตลาดพลังงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตพลังงานหมุนเวียน และช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าที่ปลอดภัยและราคาไม่แพง

เพื่อตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมพลังงานลมพร้อมที่จะทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับการติดตั้งพลังงานลมในทศวรรษนี้ ผู้ลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวจึงประกอบด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมจำนวนมาก เช่น อิเบร์โดรลา (Iberdrola), ออร์สเตด (?rsted), อีดีพี รีนิวเอเบิลส์ (EDP Renewables), เวสทัส (Vestas), ซีเมนส์ กาเมซ่า รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี (Siemens Gamesa Renewable Energy), โคเปนเฮเกน อินฟราสตรักเจอร์ พาร์ทเนอร์ส (Copenhagen Infrastructure Partners) ตลอดจนสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานลมในจีน บราซิล แอฟริกาใต้ ยุโรป สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และอื่น ๆ

อุตสาหกรรมพลังงานลมมีส่วนส่งเสริมการเติบโตและสร้างประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญให้แก่ระบบพลังงานโลกทั้งในด้านความมั่นคง ต้นทุน และสภาพภูมิอากาศ โดยในปี 2564 มีการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมราว 94 กิกะวัตต์ทั่วโลก ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 275 เทระวัตต์ชั่วโมงต่อปี หรือมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าต่อปีของออสเตรเลียในปัจจุบัน และเทียบเท่าหนึ่งในสามของความต้องการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียของสหภาพยุโรปก่อนเกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง

แต่การตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นในการประชุม COP27 และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเป็นตัวกำหนดว่าโลกของเราสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานลมและพลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมกับเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเหมาะสม ยุติธรรม และเสมอภาคได้หรือไม่

อ่านแถลงการณ์และคำพูดอ้างอิงได้ที่ https://gwec.net/cop27-coalition-manifesto-released/

โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1661794/GWEC_Logo.jpg