ภาวะลองโควิด (Long COVID) คืออาการที่ผู้ป่วยเป็นโควิด-19 ได้รับการรักษาแบบถูกต้องและหายจากการติดเชื้อแล้วโดยไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่ แต่ยังมีอาการต่อเนื่องจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งสาเหตุการเกิดภาวะลองโควิดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด อาจสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เพราะการติดเชื้อโควิด-19 นั้นจะนำไปสู่กลไกการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเกิดการอักเสบในร่างกาย เมื่อร่างกายของผู้ป่วยหายเป็นปกติ สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้แล้ว ไม่ว่าจะกำจัดได้เอง หรืออาศัยยาต้านไวรัสช่วยก็ตาม แต่ภูมิคุ้มกันและการอักเสบในร่างกายอาจยังไม่ฟื้นฟู หรือเกิดจากผลข้างเคียงของการรักษาที่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน โดยเฉพาะห้อง ICU รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น อัตราการเกิดลองโควิด ประมาณ 40-80% (จากรายงานทั่วโลก) ซึ่งอาการที่พบมีหลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่กลุ่มเสี่ยงสูงที่สามารถเกิดภาวะลองโควิดได้คือกลุ่มที่มีการติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง ผู้สูงอายุ ในเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 1.4 – 1.5 เท่า ผู้มีโรคประจำตัวได้แก่ เบาหวาน โรคไต โรคปอด ผู้มีภาวะอ้วน อาการจะมีหลากหลายขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ป่วยหนึ่งคนสามารถเกิดอาการได้หลากหลายเช่นกัน สำหรับอาการจะอยู่หลังจากหายจากโควิด-19 ประมาณ 1 – 3 เดือน บางรายมีอาการนานถึง 1 ปี (ตามรายงานจากทั่วโลก) นายแพทย์นิพนธ์ จิริยะสิน อายุรแพทย์ เฉพาะทางโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลนครธน ระบุว่า ผู้มีภาวะลองโควิดอาจเกิดอาการที่สัมพันธ์ได้กับระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยส่วนมากที่พบ คือ
ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งการรับเชื้อในปริมาณมากจะทำให้มีเชื้อที่ถุงลมปอดทำให้เกิดปอดอักเสบ เชื้อที่ถุงลมจะทำให้มีการอุดกั้นส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนและการลำเลียงออกซิเจน การทำงานของปอดไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลให้กระแสเลือดและร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เมื่อหายจากโควิดแล้วจะมีผลทำให้เกิดเป็นรอยโรคพวกแผลเป็นหรือพังผืดต่าง ๆ ในเนื้อปอด ทำให้เนื้อปอดขาดความยืดหยุ่น มีฝ้าขาวเกิดขึ้นที่ปอดใหม่ได้อีกครั้ง การแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ไม่ดีพอ หายใจไม่เต็มปอด เหนื่อยง่าย เหนื่อยล้า ไม่สดชื่น ไอเรื้อรัง ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ได้เหมือนเดิม
ระบบหัวใจและหลอดเลือด การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับหัวใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจที่ติดเชื้อจะทำให้อาการรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนที่สูงกว่าคนทั่วไป เกิดจากการที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อ อาจมีภาวะที่เรียกว่า เกิดภูมิต้านทานของตัวเองต่อกล้ามเนื้อหัวใจและต่อเยื่อหุ้มหัวใจ ที่จะส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหัวใจและการทำงานและการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง หรือผลจากการกระตุ้นจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง และเมื่อหายจากโรคโควิด-19 แล้ว ในบางรายอาจยังมีภาวะอาการทางหัวใจที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือภาวะลองโควิด (Long COVID) ได้ อาจมีอาการภาวะใจสั่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ระบบประสาทและสมอง เมื่อหายจากโควิด-19 แล้วอาการอักเสบอาจเกิดขึ้นกับระบบประสาทหรือสมอง หรือเกิดอาการตีบ ตัน ของเส้นเลือดในสมองในช่วงของการติดเชื้อโควิด จะมีผลทำให้มีอาการหลงเหลืออยู่ได้ เนื่องจากระบบประสาทหรือสมองนั้นไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้เหมือนเดิม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ มึนงงสับสน เกิดภาวะสมองล้า การสูญเสียความทรงจำในระยะสั้น และภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน มีอาการอ่อนแรงหรือชาแขนขาข้างใดข้างหนึ่ง หน้าเบี้ยว พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด
นอกจากนั้นอาการลองโควิดอาจเกิดได้กับระบบผิวหนังอาทิ มีผื่น ลมพิษขึ้น หรือผมร่วงเป็นต้น ซึ่งการรักษาต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขาร่วมกันในการรักษาให้ตรงกับอาการของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นกับระบบนั้น ๆ และต้องแยกให้ชัดเจนว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภาวะลองโควิด หรือเกิดจากโรคที่แท้จริงโดยการวินิจฉัยด้วยเครื่องมือทางการแพทย์เฉพาะทางและทำการรักษาให้ทันการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจตามมา
Doctor Quote: หากหายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19แล้ว แต่ยังมีอาการ อาทิ หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อตรวจดูอาการและรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ