“วาโกะ” ห้างสรรพสินค้าเรือธงในกินซ่า ประกาศเปิดพื้นที่ใหม่

บริษัท วาโกะ จำกัด

โตเกียว, 23 กรกฎาคม 2567 /เกียวโด เจบีเอ็น/ดาต้าเซ็ต

บริษัท วาโกะ จำกัด (WAKO Co., Ltd.) ซึ่งตั้งอยู่ในย่านชอปปิงกินซ่า ในเขตชูโอของกรุงโตเกียว มีความยินดีที่จะประกาศให้ทราบว่า การปรับปรุงชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้าเรือธงอันเป็นแลนด์มาร์กที่มีชื่อเสียงในย่านนี้ ได้เสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดเปิดให้บริการอีกครั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กรกฎาคม ทั้งนี้ วาโกะ คือห้างที่ขายสินค้าเฉพาะกลุ่มชั้นนำของญี่ปุ่น โดยมีชื่อเสียงจากความมุ่งมั่นในการนำเสนอสินค้าหรูหราอันประณีต และพื้นที่ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้จะสะท้อนถึงธีมหลักขององค์กร นั่นคือ “AMAZING WAKO” สำหรับพื้นที่นี้ได้รับการออกแบบโดย นิว แมททีเรียล รีเสิร์ช แลบอราทอรี (New Material Research Laboratory) บริษัทสถาปัตยกรรมที่ก่อตั้งและบริหารงานโดยฮิโรชิ สุงิโมโตะ (Hiroshi Sugimoto) ผู้เป็นศิลปิน และโทโมยูกิ ซาคาคิดะ (Tomoyuki Sakakida) ผู้เป็นสถาปนิก

ภาพที่ 1: https://cdn.kyodonewsprwire.jp/prwfile/release/M108267/202407123593/_prw_PI1fl_GDwzWVBq.jpg

แนวคิด

แนวคิดหลักสำหรับพื้นที่นี้คือ “โรงละครแห่งกาลเวลา” (Theatre of Time) ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่รุ่มรวยด้วยขนบธรรมเนียมดั้งเดิมและนวัตกรรมใหม่ โดยมี “เวที” (Stage) ตั้งอยู่ใจกลางชั้นใต้ดิน พร้อมกลไกแนวนอนที่มีลักษณะเหมือนเข็มนาฬิกาขนาดยักษ์ สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และการเปลี่ยนตำแหน่งเข็มนาฬิกาแต่ละครั้งจะเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นรูปแบบใหม่

วาโกะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องของเวลามาโดยตลอด สิ่งนี้ตอกย้ำถึงความทุ่มเทของแบรนด์ในการสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ให้กับทุกชีวิตที่มาเยือน ด้วยหวังว่าจะนำไปสู่อนาคตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและน่าอภิรมย์ยิ่งขึ้น โดยแนวคิดเรื่องเวลาของวาโกะประกอบด้วยสองส่วนหลัก ได้แก่

– ความอ่อนไหวต่อความงามแบบญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลอย่างต่อเนื่องและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

– ประเพณีและเทคนิคที่สืบทอดมานานหลายร้อยปี การทุ่มเทเวลามากมายในการสร้างสรรค์ และความคิดอันไม่มีที่สิ้นสุดเกี่ยวกับอนาคต

ชั้นใต้ดิน

ชั้นใต้ดินของห้างถือเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานของนักออกแบบ ช่างฝีมือ และบุคคลอื่น ๆ ที่โลดแล่นในแวดวงแฟชั่น เครื่องประดับ ศิลปะสมัยใหม่ และสาขาสร้างสรรค์อื่น ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้สะท้อนสุนทรียภาพ วัฒนธรรม และเทคนิคที่กำหนดความเป็นญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณ ขณะเดียวกันก็แนะนำแบรนด์ใหม่ ๆ ที่นำแนวทางที่เป็นนวัตกรรมมาใช้ในสาขาเหล่านี้ สำหรับเวทีที่ตั้งอยู่ใจกลางชั้นใต้ดินนั้น มี “เข็มนาฬิกา” สองเข็มเหมือนนาฬิกา ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลายไม่รู้จบ ส่วนทางเดินรอบเวทีก็เป็นเส้นทางเดินชมผลงานสร้างสรรค์ที่จัดแสดง ซึ่งแต่ละผลงานล้วนบอกเล่าเรื่องราวพิเศษของตัวเอง เมื่อรวมกันแล้ว “เวทีและทางเดิน” จึงช่วยส่งเสริมให้มีการพบปะพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในหมู่ผู้มาเยือน รวมถึงกับผลงานที่จัดแสดงด้วย

ภาพที่ 2: https://cdn.kyodonewsprwire.jp/prwfile/release/M108267/202407123593/_prw_PI2fl_HN9pNBN9.jpg

*สถาปนิกผู้ออกแบบ: บริษัท นิว แมททีเรียล รีเสิร์ช แลบอราทอรี

ภาพโดย มาซาโตโมะ โมริยามะ (Masatomo Moriyama)

แนวคิดการออกแบบ “เวทีและทางเดิน”

ความกลมกลืนและแสง เวทีและทางเดิน

“ห้างสรรพสินค้าเรือธงของวาโกะถือเป็นแลนด์มาร์กของย่านกินซ่า ดังนั้น การปรับปรุงใด ๆ ก็ตามจึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ในการออกแบบชั้นใต้ดินใหม่นั้น เรายึดธีม “เวทีและทางเดิน” โดยใจกลางของพื้นที่เป็นที่ตั้งของเวทีที่มี “เข็มนาฬิกา” ยาวและสั้นที่หมุนได้เหมือนนาฬิกา และรอบ ๆ เวทีมีทางเดินที่ล้อมด้วยระแนงไม้ ผู้มาเยือนสามารถเดินทอดน่องรอบพื้นที่ขายดังกล่าวได้แบบสบาย ๆ นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังมีกลิ่นอายนีโอเรอเนซองส์ สว่างไสวอย่างสงบด้วยแสงที่กลมกลืน ชวนให้นึกถึงแนวคิดของญี่ปุ่นเรื่อง “วะ” (wa) หรือความกลมกลืน ซึ่งเราใช้เป็นแนวคิดตลอดการออกแบบ สำหรับวัสดุที่ใช้ประกอบด้วยวัสดุหายากและคัดสรรมาเป็นพิเศษจากทั่วประเทศ ได้แก่ ไม้ซีดาร์คิริชิมะและยานาเสะ (Kirishima and Yanase cedar) งานหิน ไปจนถึงกระดาษแบบที่ใช้ทำฟุสุมะ (Fusuma) หรือประตูบานเลื่อนจากเกียวโต โดยกลิ่นจาง ๆ ของไม้ซีดาร์ในอากาศ ประกอบกับงานฝีมือแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมทั่วทั้งพื้นที่ จะทำให้รู้สึกถึงความกลมกลืนและช่วยให้จิตใจสงบอย่างแน่นอน”

(นิว แมททีเรียล รีเสิร์ช แลบอราทอรี)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่ https://kyodonewsprwire.jp/attach/202407123593-O3-Msc9x630.pdf

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของวาโกะ: https://www.wako.co.jp/

เว็บไซต์เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม: https://www.wako.co.jp/c/artsandculture

อินสตาแกรม: https://www.instagram.com/artsandculture_wako_ginzatokyo/

ที่มา: บริษัท วาโกะ จำกัด