Lazada

ดึง’เอ๊ด 7 วิ’ให้ความรู้แก่นักศึกษา เพื่อพัฒนาสื่อฟื้นฟูวิกฤตเด็กปฐมวัย

ด้วยความเป็นห่วงเด็กปฐมวัย  ซึ่งเป็นช่วงวัยวิกฤตที่ได้รับผลกระทบรุนแรงตั้งแต่ช่วงโควิด  กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย จึงร่วมมือกันสร้างสรรค์สื่อ ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการฟื้นฟูเด็กหลังวิกฤต แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อสม. และสังคมทั่วไป ภายใต้โครงการ“สื่อเพื่อฟื้นฟูการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในวิถีชีวิตใหม่”

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน ได้มอบทุนมูลค่ารวม 180,000 บาทให้เยาวชนนักศึกษาจากวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จำนวน 3 ทีมที่ผ่านการคัดสรร และได้จัดให้เรียนรู้เกี่ยวกับวิกฤตของเด็กปฐมวัย แนวทางฟื้นฟู รวมถึงเทคนิคการผลิตสื่อยุคใหม่ เพื่อนำความรู้ไปสร้างสรรค์สื่อในรูปแบบวิดีโอ จำนวน 6 เรื่อง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิริยาภรณ์ อุดมระติ หัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงว่า โครงการฯ มุ่งสร้างการมีส่วนร่วมกับคนรุ่นใหม่ เน้นบ่มเพาะนักศึกษาให้เป็น”นักสื่อสารรุ่นใหม่” ที่มีมุมมองและเทคนิคการสื่อสารใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับรู้ของกลุ่มพ่อแม่รุ่นใหม่ โดย workshop ที่เข้มข้นตลอด 2 วัน มีวิทยากรทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมวัยจากสถาบันรักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป และ ด้านเทคนิคผลิตสื่อวิดีโอ จากนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ชื่อดังระดับประเทศ เช่น คุณญาณวุฒิ จรรยหาญ หรือ “เอ็ด 7 วิ”

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย กล่าวว่า นักวิชาการปฐมวัยต่างชี้ตรงกันว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา เด็กสูญเสียโอกาสพัฒนายาวนานกว่า 2 ปี จนเกิดภาวะเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ซึ่งอาจส่งผลเสียในระยะยาวต่อชีวิตเด็ก ซ้ำร้ายกว่านั้น ยังพบว่า พอโควิดจางไป ทุกฝ่ายทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงสังคม ก็กลับไปเร่งเรียนเขียนอ่านในเด็กปฐมวัย ด้วยคิดผิดไปว่าเพื่อชดเชยเวลาเรียนที่ขาดไป ทั้งที่ความจริงแล้ว หาใช่ “เวลาเรียน” ที่ขาดไป หากแต่เป็นพัฒนาการ ความสุขและศักยภาพของเด็กปฐมวัยที่ขาดไปมาก ทั้งพัฒนาการ 4 ด้าน ; ร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม สติปัญญา กับพัฒนาการด้านตัวตนและพัฒนาการของทักษะสมอง EF- Executive Functions ที่จะส่งผลต่อการกำกับความคิด อารมณ์และพฤติกรรมของเด็กเมื่อโตขึ้น

ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญของสื่อวิดีโอทั้ง 6 เรื่อง จะเน้นข้อเสนอเชิงนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” อันเป็นแนวทางการฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย ได้แก่

3 เร่ง ;   1) เร่งกำหนด “การฟื้นฟูเด็กปฐมวัย” เป็นวาระแห่งชาติ

2) เร่งให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ครูและสังคม

3) เร่งค้นหา เยียวยา และพัฒนาเด็กปฐมวัยในภาวะเปราะบาง

3 ลด ;  1) ลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง

2) ลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย

3) ลดการใช้ความรุนแรงต่อเด็กปฐมวัp

3 เพิ่ม ; 1) เพิ่มกิจกรรมฟื้นฟูพัฒนาการที่เสียไป กิจกรรมทางกาย การเล่น การอ่านนิทาน

2) เพิ่มสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

3) เพิ่มศักยภาพ อปท. และกลไกในระบบนิเวศน์ใกล้ตัวเด็ก

 

คุณสุภาวดีกล่าวทิ้งท้ายว่า  ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายปฐมวัยทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมที่กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ  จะร่วมกันนำสื่อชุดนี้ออกรณรงค์เผยแพร่ ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปฐมวัยและความเร่งด่วนในการแก้ปัญหา

ติดตามรับชม และดาวน์โหลดสื่อฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั้ง 6 เรื่อง ในรูปแบบหลากหลาย อาทิ e-book, Infographic บทความ เอกสารวิชาการ และรับชมคลิปวิดีโออื่นๆ ได้ที่ https://ecd-covidrecovery.rlg-ef.com/