การตรวจเจาะปลายนิ้วสะท้อนความก้าวหน้าในการตรวจเลือดสำหรับโรคอัลไซเมอร์

ข้อสรุปสำคัญ

ผลจากการตรวจเลือดด้วยการเจาะปลายนิ้วมีแนวโน้มที่มีศักยภาพ และอาจช่วยในการตรวจหาอัลไซเมอร์ที่บ้านหรือในสถานดำเนินงานของแพทย์

การตรวจเลือดมีความแม่นยำสูงกว่า 80% ในการระบุการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์ ซึ่งสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับแพทย์ที่ไม่มีการเข้าถึงผลตรวจเลือดในการศึกษา

การตรวจเลือดเพื่อหาอัลไซเมอร์อาจเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและการรักษา

การตรวจเลือดด้วยการเจาะปลายนิ้วที่ทำได้ง่าย ซึ่งแทบไม่ต่างจากที่ผู้เป็นเบาหวานทำในทุกวัน แสดงแนวโน้มที่มีศักยภาพในแง่ของการสามารถตรวจหาโรคอัลไซเมอร์ ตามที่แสดงโดยงานวิจัยที่รายงานเป็นครั้งแรกในวันนี้ในการประชุมนานาชาติของสมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association International Conference(R) หรือ AAIC(R)) ประจำปี 2566 ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และทางออนไลน์

ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีและการปฏิบัติที่รายงานเป็นครั้งแรกในการประชุม AAIC ประจำปี 2566 แสดงความเรียบง่าย ความสามารถในการเคลื่อนย้าย และคุณค่าด้านการวินิจฉัยของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในโลหิตสำหรับอัลไซเมอร์ รวมถึงแนวโน้มศักยภาพในอนาคตของการตรวจที่บ้านโดยผู้ป่วยหรือสมาชิกในครอบครัว

“ข้อค้นพบเหล่านี้มาถูกจังหวะเวลาและมีความสำคัญ ในขณะที่เพิ่งมีการอนุมัติยารักษาอัลไซเมอร์ที่มุ่งเป้าแอมีลอยด์-เบตา (amyloid-beta) โดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S. Food and Drug Administration) ซึ่งการยืนยันการสะสมของแอมีลอยด์และการติดตามเฝ้าสังเกตตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรับการรักษา” ดร.มาเรีย ซี คาร์ริลโล (Maria C. Carrillo) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมอัลไซเมอร์ กล่าว “การตรวจเลือด เมื่อได้รับการตรวจสอบรับรองแล้ว จะมอบตัวเลือกที่รวดเร็ว ไม่ต้องมีการล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกาย และคุ้มค่าต้นทุน”

มีการใช้การตรวจเลือดอยู่แล้วในการศึกษาทดลองยาอัลไซเมอร์เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลเพิ่มเติมและเพื่อคัดกรองผู้มีศักยภาพที่จะเข้ารับการวิจัย การตรวจเลือดจะเป็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากวิธีการที่มีราคาแพงและต้องมีการล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายมากกว่า ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติทั่วไปในปัจจุบัน ในบางกรณี การตรวจเลือดเหล่านี้มอบข้อมูลที่ใกล้เคียงกับการตรวจที่ถือเป็น “วิธีมาตรฐานที่ดีที่สุด” อย่างการตรวจการสร้างภาพสมองและการวิเคราะห์น้ำไขสันหลัง

“แม้ว่ายังต้องมีการทำให้เป็นมาตรฐานและการตรวจสอบเพิ่มเติม ในเร็ว ๆ นี้การตรวจเลือดอาจจะเป็นส่วนสำคัญของการตรวจวินิจฉัยในการปฏิบัติทั่วไป สำหรับการตรวจหาและการติดตามเฝ้าระวังในการรักษาโรคอัลไซเมอร์” ดร.คาร์ริลโล กล่าว

ตัวอย่างเลือดจากการเจาะปลายนิ้วตรวจพบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของโรคอัลไซเมอร์ และเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้ง่าย ดร.แฮนนาห์ ฮิวเบอร์ (Hanna Huber) จากแผนกจิตเวชและประสาทชีวเคมี สถาบันประสาทวิทยาศาสตร์และสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก (Gothenburg) ประเทศสวีเดน และเพื่อนร่วมงาน มุ่งเพิ่มการเข้าถึงการตรวจเลือดและทำให้ดำเนินการได้ง่าย ด้วยการพัฒนาการเก็บเลือดจากการเจาะปลายนิ้วเพื่อวัดตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหลักที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ โปรตีนนิวโรฟิลาเมน ไลท์ (neurofilament light หรือ NfL) โปรตีนไกลอัล ฟิบริลลารี เอซิดิก (glial fibrillary acidic protein หรือ GFAP) และโปรตีนเทาที่มีปฏิกิริยาฟอสฟอรีเลชัน (phosphorylated tau) (p-tau181 และ p-tau217)

คณะผู้วิจัยได้เก็บเลือด (จากทั้งหลอดเลือดดำและการเจาะปลายนิ้ว) จากผู้ป่วยคลินิกความจำ 77 คนจากศูนย์อัลไซเมอร์ เอซีอี (ACE Alzheimer Center) ในบาร์เซโลนา มีการถ่ายตัวอย่างเลือดลงบนกระดาษหยดเลือดแห้ง และขนส่งข้ามคืนโดยไม่มีการควบคุมอุณหภูมิหรือการทำความเย็น ไปยังมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กในสวีเดน ที่ซึ่งตัวอย่างเลือดแห้งถูกสกัดจากกระดาษหยดเลือด และมีการวัด NfL, GFAP และ p-tau181 และ p-tau217 (หมายเหตุ: ข้อมูล p-tau217 มีเฉพาะใน 11 ราย) โดยทั้งหมดนี้ตรวจพบได้ในตัวอย่างจากการเจาะปลายนิ้ว

ในหยดเลือดจากหลอดเลือดดำ ระดับของ GFAP, NfL, p-tau217 และ p-tau181 สัมพันธ์อย่างยิ่งกับการวิเคราะห์เลือดตามมาตรฐาน ส่วน GFAP, NfL และ p-tau217 ที่สกัดจากเลือดจากการเจาะปลายนิ้วสัมพันธ์ในระดับสูงกับการเก็บเลือดตามมาตรฐานเช่นกัน

“การศึกษานำร่องของเราแสดงศักยภาพของการเก็บและวัดตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของอัลไซเมอร์จากทางไกล โดยไม่มีการจัดเก็บแบบอุณหภูมิต่ำ หรือการตระเตรียมหรือดำเนินการเป็นพิเศษ” ดร.ฮิวเบอร์ กล่าว “ปัจจุบันการใช้การตรวจเลือดสำหรับอัลไซเมอร์มีข้อจำกัดคือต้องไปยังคลินิก ต้องดำเนินการโดยบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรม ตลอดจนต้องใช้กระบวนการขนส่งและการจัดเก็บที่จำกัดเวลาและขึ้นกับอุณหภูมิ วิธีที่ทำให้สามารถเก็บเลือดที่บ้านได้และที่เรียบง่ายพอที่จะทำได้อย่างอิสระ หรือทำได้โดยผู้ดูแล จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจเหล่านี้ โดยจะส่งผลเป็นการวินิจฉัยแต่เนิ่นที่ดีขึ้นและการเฝ้าสังเกตที่ดีขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่ถือว่า ‘มีความเสี่ยง’ หรือผู้ที่กำลังรับการรักษาที่ได้รับการอนุมัติแล้ว”

การตรวจเลือดอาจจะยกระดับการวินิจฉัยในการดูแลขั้นปฐมภูมิ ดร. นพ. เซบาสเตียน ปาล์มควิสต์ (Sebastian Palmqvist) จากหน่วยวิจัยความจำทางคลินิกที่มหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) ในสวีเดน และเพื่อนร่วมงาน ในการศึกษาวิจัยไบโอไฟน์เดอร์-ไพรมารี แคร์ (BioFINDER-Primary Care) ได้ดำเนินการศึกษาเป็นครั้งแรกที่สำรวจการใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในโลหิตเพื่อหาอัลไซเมอร์ในการดูแลขั้นปฐมภูมิ และเปรียบเทียบกับความแม่นยำในการวินิจฉัยของแพทย์ปฐมภูมิ (PCP)

การศึกษาวิจัยดังกล่าวนี้คัดเลือกผู้ป่วยวัยกลางคนจนถึงสูงวัย 307 คนในศูนย์บริการขั้นปฐมภูมิ 17 แห่งในสวีเดน (อายุเฉลี่ย = 76 ปี และ 48% เป็นผู้หญิง) หลังจากการเข้าตรวจที่สถานดำเนินงาน การตรวจการรู้คิด และการตรวจซีทีสแกน (CT scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) สมอง แพทย์ปฐมภูมิได้บันทึกการวินิจฉัย สาเหตุทางชีวภาพที่มีแนวโน้ม และเสนอแผนการรักษาสำหรับผู้เข้ารับการวิจัยแต่ละคน

ในขณะเดียวกัน มีการเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดเพื่อระบุความเข้มข้นของเบตา-แอมีลอยด์และโปรตีนเทาที่มีปฏิกิริยาฟอสฟอรีเลชันโดยใช้การตรวจพรีซิวิตีเอดี2 (PrecivityAD2) โดยซีทูเอ็น ไดแอกโนสติกส์ (C2N Diagnostics) (จากสหรัฐฯ) และนำระดับของตัวบ่งชี้ทั้งสองชนิดไปคำนวณรวมเป็นคะแนน เรียกว่าคะแนนความน่าจะเป็นของแอมีลอยด์ 2 (Amyloid Probability Score 2 หรือ APS2) จากนั้นผู้ป่วยทั้งหมดเข้ารับการตรวจทางคลินิกอย่างละเอียดที่คลินิกความจำเฉพาะทาง รวมถึงการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ทราบผลตัวอย่างเลือด

แพทย์ปฐมภูมิระบุการมีอยู่ของการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับอัลไซเมอร์ได้อย่างถูกต้องหรือวินิจฉัยอัลไซเมอร์ได้อย่างถูกต้องในราว 55% ของกรณีทั้งหมด ขณะที่การตรวจเลือดมีผลถูกต้องในมากกว่า 85% ของกรณีทั้งหมด ข้อค้นพบอื่น ๆ มีดังนี้

แพทย์ปฐมภูมิระบุว่าความแน่ใจของตนเกี่ยวกับการวินิจฉัยมีน้อยกว่า 50%
แผนการรักษาเผยว่า เนื่องจากการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง กว่า 50% ของผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์จริงไม่ได้รับการรักษาตามอาการ และ 30% ของกรณีที่ไม่ได้เป็นอัลไซเมอร์ได้รับการรักษาตามอาการอย่างไม่ถูกต้อง
“เนื่องจากขาดเครื่องมือการวินิจฉัยที่แม่นยำ ปัจจุบันจึงเป็นเรื่องยากมากสำหรับแพทย์ปฐมภูมิที่จะระบุการเป็นโรคอัลไซเมอร์ แม้แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่อง” ดร.ปาล์มควิสต์ กล่าว “เช่นนี้ทำให้เกิดความไม่แน่ใจในการวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่เหมาะสมอยู่บ่อยครั้ง การตรวจเลือดเพื่อหาโรคอัลไซเมอร์มีศักยภาพสูงสำหรับการเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่เป็นอัลไซเมอร์ การตรวจเหล่านี้อาจมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ยาใหม่ ๆ ที่ชะลอโรคอัลไซเมอร์ในระยะแรกเริ่มมีอยู่อย่างแพร่หลายมากขึ้น”

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมอัลไซเมอร์ (AAIC(R))
การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
โฮมเพจของ AAIC 2023: www.alz.org/aaic/ ห้องข่าวของ AAIC 2023: www.alz.org/aaic/pressroom.asp
แฮชแท็ก AAIC 2023: #AAIC23

เกี่ยวกับสมาคมอัลไซเมอร์ สมาคมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association) เป็นองค์กรสุขภาพระดับโลกที่อาสาทุ่มเทเพื่อการดูแล การสนับสนุน และการวิจัยเกี่ยวกับอัลไซเมอร์ ภารกิจของเราคือการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ ให้หมดไป ด้วยการส่งเสริมการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ ตลอดจนการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาและการสนับสนุน เพื่อทำให้โลกของเราปราศจากโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่น ๆ ทั้งหมด สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทร 800.272.3900

ดร.แฮนนาห์ ฮิวเบอร์ และคณะ วิธีการเก็บด้วยการเจาะปลายนิ้วสำหรับการตรวจหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือดสำหรับการเสื่อมของประสาท – การศึกษานำร่อง (A finger prick collection method for detecting blood biomarkers of neurodegeneration – a pilot study) (DROP-AD) (ผู้ให้ทุน: อัลไซเมอร์ฟอนเดน (Alzheimerfonden))
ดร. นพ. เซบาสเตียน ปาล์มควิสต์ และคณะ ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในโลหิตเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์เมื่อเทียบกับมาตรฐานการวินิจฉัยในปัจจุบันในบริบทการดูแลขั้นปฐมภูมิ (Blood Biomarkers Improve The Diagnostic Accuracy Of Alzheimer’s Disease As Compared With Current Diagnostic Standard In the Primary Care Setting) (ผู้ให้ทุน: สมาคมอัลไซเมอร์, สภาวิจัยสวีเดน (Swedish Research Council), มูลนิธิสมองสวีเดน (Brain Foundation), มูลนิธิอัลไซเมอร์สวีเดน (Swedish Alzheimer’s Foundation))
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/2155087/AAIC23_Logo.jpg