รายงานสรุปข้อมูลการโยกย้ายความมั่งคั่งส่วนบุคคลของเฮนลี่ย์ ประจำปี 2566 (Henley Private Wealth Migration Report 2023) คาดการณ์ว่า สหราชอาณาจักรจะมีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูง (HNWI) ไหลออกสุทธิ 3,200 รายในปี 2566 มากกว่ารัสเซียซึ่งคาดไว้ว่าจะไหลออกสุทธิ 3,000 ราย ส่งผลให้สหราชอาณาจักรมีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงไหลออกมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ถัดจากจีน (ไหลออกสุทธิ 13,500 ราย) และอินเดีย (ไหลออกสุทธิ 6,500 ราย) นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังน่าจะมีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงไหลออกมากกว่าปีที่แล้วเป็นเท่าตัวด้วย โดยเมื่อปีที่แล้วอังกฤษมีเศรษฐีเงินล้านไหลออกนอกประเทศไป 1,600 ราย
รายงานดังกล่าวมาจากบริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานอย่างเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partners) ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเศรษฐีเงินล้านไหลเข้าไหลออกสุทธิ (กล่าวคือ ส่วนต่างระหว่างจำนวนบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ซึ่งย้ายถิ่นฐานและอพยพออกจากประเทศใดประเทศหนึ่ง) โดยเป็นการคาดการณ์จากบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลความมั่งคั่งทั่วโลกอย่างนิว เวิลด์ เวลธ์ (New World Wealth) ตัวเลขดังกล่าวเน้นที่บุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงที่ได้ย้ายไปอยู่ประเทศใหม่เป็นเวลาเกิน 6 เดือนต่อปี หมายเหตุ: ตัวเลขบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงทั้งหมดถูกปัดเศษในหลัก 100 ที่ใกล้ที่สุด
“แดนใต้” เด้งสู่จุดสูงสุด
ออสเตรเลียน่าจะดึงดูดบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงสุทธิได้มากที่สุดในปี 2566 ที่ 5,200 ราย และแม้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะหล่นเป็นอันดับ 2 หลังจากที่มีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงไหลเข้าทุบสถิติใหม่เมื่อปี 2565 แต่ก็ยังคาดว่าจะมีเศรษฐีใหม่สุทธิ 4,500 รายในปีนี้ ส่วนสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 3 โดยมีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงไหลเข้าสุทธิ 3,200 ราย ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตามมาด้วยสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีเศรษฐีเงินล้านไหลเข้าสุทธิ 2,100 ราย
สวิตเซอร์แลนด์ (ไหลเข้าสุทธิ 1,800 ราย) และแคนาดา (ไหลเข้าสุทธิ 1,600 ราย) อยู่ในอันดับที่ 5 และ 6 ตามลำดับ โดยมีกรีซ (ไหลเข้าสุทธิ 1,200 ราย) ฝรั่งเศส (ไหลเข้าสุทธิ 1,000 ราย ซึ่งเป็นสองเท่าของปีที่แล้วซึ่งมีเศรษฐีเงินล้านไหลเข้า 500 ราย) โปรตุเกส (ไหลเข้าสุทธิ 800 ราย) และนิวซีแลนด์ (ไหลเข้าสุทธิ 700 ราย) ทั้งหมดนี้คือประเทศที่มีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงไหลเข้าสุทธิมากที่สุด 10 อันดับแรกของปีนี้ ขณะที่อิสราเอลน่าจะหลุดจาก 10 อันดับแรก โดยมีเศรษฐีเงินล้านไหลเข้าสุทธิลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 600 ราย เมื่อเทียบกับ 1,100 ราย ในปี 2565
ดร. ยอร์ก สเตฟเฟน (Dr. Juerg Steffen) ซีอีโอของเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส เปิดเผยว่า การย้ายถิ่นฐานของเศรษฐีเงินล้านมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยตัวเลขทั่วโลกในปี 2566 และ 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 122,000 ราย และ 128,000 ราย ตามลำดับ “โดยทั่วไปแล้ว แนวโน้มการโยกย้ายความมั่งคั่งดูเหมือนจะเปลี่ยนกลับไปอยู่ในรูปแบบก่อนเกิดโรคระบาดได้ในปีนี้ แต่อาจจะไม่รวมถึงประเทศที่เคยเป็นแม่เหล็กดึงดูดความมั่งคั่งอย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา”
เบร็กซิตคือเดิมพันพลาดของอังกฤษ
สหราชอาณาจักรมีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงไหลออกสุทธิมากที่สุดเมื่อปี 2560 หลังจากที่อังกฤษได้ลงประชามติเบร็กซิต (Brexit) ในปี 2559 โดยก่อนหน้านั้น สหราชอาณาจักรถือเป็นประเทศที่มีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงไหลเข้าสุทธิ และแม้ตัวเลขไหลออกสุทธิจะลดลงเล็กน้อยระหว่างปี 2560 ถึง 2562 แต่ตัวเลขคาดการณ์ในปี 2566 บ่งชี้ว่า จำนวนเศรษฐีเงินล้านไหลออกยังมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงได้มากกว่านี้อีก
ศ. เทรเวอร์ วิลเลียมส์ (Trevor Williams) อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของลอยด์ส แบงก์ คอมเมอร์เชียล (Lloyds Bank Commercial) กล่าวว่า “ไม่ว่าคนทั่วไปจะคิดอย่างไรเกี่ยวกับข้อดีของเบร็กซิต แต่บุคคลกลุ่มนี้ลงคะแนนโดยเลือกที่จะก้าวเท้าหนีไป และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อยกเลิกสถานะผู้เสียภาษีที่มีภูมิลำเนานอกสหราชอาณาจักรด้วยแล้ว เบร็กซิตทำให้สหราชอาณาจักรมีอัธยาศัยไมตรีและต้อนรับบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงน้อยลง” ขณะที่คุณสุนิตา ซิงห์-ดาลาล (Sunita Singh-Dalal) จากฮูรานี แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Hourani & Partners) กล่าวว่า “การถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับผู้มีภูมิลำเนานอกสหราชอาณาจักรเมื่อเร็ว ๆ นี้อันเป็นผลจากความผันผวนทางการเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประกอบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้น ระบบการรักษาพยาบาลที่ผิดปกติ อัตราการเกิดอาชญากรรมสูง และความไม่พอใจที่พบเห็นทั่วไปนั้น ทำให้ลอนดอนมัวหมองอย่างเห็นได้ชัด”
ความน่าดึงดูดใจของยักษ์ใหญ่ทางการเงินอีกรายอย่างสหรัฐฯ ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเศรษฐีเงินล้านสนใจย้ายถิ่นฐานไปอเมริกาลดลงมากเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด ส่วนหนึ่งเพราะกังวลเรื่องการเพิ่มภาษี แต่สหรัฐก็ยังดึงดูดบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงเข้ามาได้มากกว่าที่ไหลออกไป โดยคาดการณ์ว่าจะมีเศรษฐีไหลเข้าสุทธิ 2,100 รายในปี 2566 แม้จะลดลงอย่างน่าตกใจจากระดับในปี 2562 ซึ่งมีเศรษฐีไหลเข้าสุทธิถึง 10,800 คน
ประเทศอื่น ๆ ที่มีเศรษฐีไหลออกจำนวนมากในปี 2566
จีนยังคงมีเศรษฐีเงินล้านไหลออกเพื่อย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในแต่ละปี เหมือนกับที่เกิดขึ้นตลอดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยแอนดรูว์ อโมลิส (Andrew Amoils) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของนิว เวิลด์ เวลธ์ อธิบายว่า “การเติบโตของความมั่งคั่งในจีนชะลอตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าการไหลออกในช่วงเวลานี้อาจสร้างความเสียหายมากกว่าปกติ” และแม้อินเดียจะมีเศรษฐีไหลออกสุทธิมากเป็นอันดับสองของโลก แต่จำนวนเศรษฐีไหลออกสุทธิของอินเดียคาดว่าจะลดลงเหลือ 6,500 รายในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (7,500 ราย) โดยคุณอโมลิสชี้ให้เห็นว่า “การไหลออกเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลมากนัก เนื่องจากอินเดียผลิตเศรษฐีใหม่ได้มากกว่าที่เสียไปให้กับการโยกย้าย”
สหราชอาณาจักร (ไหลออกสุทธิ 3,200 ราย) และรัสเซีย (ไหลออกสุทธิ 3,000 ราย เทียบกับ 8,500 รายในปี 2565 หลังเปิดฉากรุกรานยูเครน) อยู่ในอันดับที่ 3 และ 4 ตามลำดับ ส่วนบราซิล (ไหลออกสุทธิ 1,200 ราย) ฮ่องกง (เขตบริหารพิเศษจีน) (ไหลออกสุทธิ 1,000 ราย ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณไหลออกสุทธิจริงในปี 2565) เกาหลีใต้ (ไหลออกสุทธิ 800 ราย ไหลออกสุทธิมากกว่าปี 2565 เท่าตัว) เม็กซิโก (ไหลออกสุทธิ 700 ราย) แอฟริกาใต้ (ไหลออกสุทธิ 500 ราย) และญี่ปุ่น (ไหลออกสุทธิ 300 ราย เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ไหลออกสุทธิ 100 ราย) ทั้งหมดนี้คือ 10 อันดับแรกที่คาดว่าจะมีเศรษฐีเงินล้านไหลออกสุทธิมากที่สุดในปี 2566
มิชา เกลนนี (Misha Glenny) นักข่าวระดับรางวัล เปิดเผยว่า สำหรับผู้ที่ต้องการดึงดูดบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงให้ได้นั้น “เสถียรภาพทางการเมืองเป็นตัวชี้วัดหลัก ประกอบกับมีระบบการเก็บภาษีต่ำและให้เสรีภาพส่วนบุคคล จนกว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะสิ้นสุดลง ทั้งสองประเทศนี้จะยังคงมีบุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงไหลออกต่อเนื่อง และสิ่งนี้จะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการย้ายถิ่นฐานที่มีอิทธิพลมากที่สุด แต่เมื่อชาติตะวันตกหลาย ๆ ประเทศจะทยอยเลือกตั้งในอีก 18 เดือนข้างหน้า บุคคลผู้มีความมั่งคั่งสูงอาจรอจนกว่าผลจะออกมา โดยเฉพาะในสหรัฐและสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะตัดสินใจเลือก”
ดาวน์โหลดข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับเต็ม