ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) รับมอบใบประกาศเกียรติคุณรางวัล Low Carbon Business: Waste Management Award จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการเข้าร่วมประเมินองค์กรที่มีกิจกรรมหรือการดำเนินการโดดเด่นในการบริหารจัดการขยะในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” ในรูปแบบออนไลน์
ข้อมูลการบริหารจัดการขยะของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2563 มีอัตราการรีไซเคิล (Recycling Rate) โดยรวมมากกว่า 70% สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 63,481.14 กิโลกรัม/คาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าการได้รับการรับรองจากโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือน (Low Emission Support Scheme: LESS) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
โดยสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการบริหารจัดการขยะของเซ็นทารา คือ 3 สร้าง ซึ่งได้แก่ 1) การสร้างองค์ความรู้ภายในองค์กร 2) การสร้างระบบเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และ 3) การสร้างความตระหนักรู้ให้กับทุกคนในองค์กร ไม่เฉพาะแค่พนักงานที่ทำหน้าที่เก็บ-คัด-แยก-บันทึกข้อมูลขยะเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกคนในองค์กรเพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการบริหารจัดการขยะให้เป็นระบบและถูกวิธี
โครงการ “ถนนวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ” ริเริ่มเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนบริษัท จดทะเบียนและหน่วยงานที่มีที่ตั้งบนถนนวิภาวดีรังสิต มาร่วมมือกันบริหารจัดการขยะภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบ เพิ่มอัตราการหมุนเวียนทรัพยากร เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมี 32 บริษัทเข้าร่วมโครงการ และมี 14 บริษัทผ่านการประเมินซึ่งเป็นองค์กรที่มีกิจกรรมหรือการดำเนินการโดดเด่นในการบริหารจัดการขยะในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการดำเนินงานต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563
ทั้งนี้ การประเมินคะแนนเพื่อมอบใบประกาศเกียรติคุณพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 5 หน่วยงาน คือ 1) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2) กรมควบคุมมลพิษ 3) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) 4) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และ 5) นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพิจารณาจากปัจจัย 2 ส่วน ได้แก่ 1) การดำเนินงาน 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย กระบวนการ การจัดการข้อมูล และการสร้างการมีส่วนร่วม และ 2) อัตราการรีไซเคิลขยะ (recycling rate)