ระบบที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอยืนยันพบเสือจากัวร์อย่างน้อย 5 ตัวในเขตสงวนแห่งรัฐดซิลัม
ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติประกาศว่า พวกเขาพบเสือจากัวร์อย่างน้อย 5 ตัวในเขตสงวนแห่งรัฐดซิลัม (Dzilam State Reserve) รัฐยูกาตัน ประเทศเม็กซิโก
แพลตฟอร์มคลาวด์และเอไอ (AI) ของหัวเว่ยทำให้ทีมงานตรวจพบเสือจากัวร์เพศผู้ที่โตเต็มวัยแล้ว 2 ตัว รวมถึงเสือจากัวร์เพศเมียที่โตเต็มวัยแล้วอีก 1 ตัว และลูกเสือจากัวร์ตัวน้อยอีก 2 ตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ (Tech4Nature) อันเกิดจากการผนึกกำลังกันระหว่างองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือไอยูซีเอ็น) และหัวเว่ย ในเขตสงวนแห่งรัฐดซิลัมเมื่อปี 2565
ก่อนหน้าที่โครงการนี้จะเปิดฉากขึ้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญไม่ทราบมาก่อนว่าเขตสงวนแห่งนี้มีเสือจากัวร์อาศัยอยู่หรือไม่ หรือมีอยู่จำนวนมากน้อยเท่าใดกันแน่
เรจินา เซอร์เวรา (Regina Cervera) ผู้ประสานงานโครงการประจำองค์กรนวัตกรรมซีไมนด์ส (C Minds) กล่าวว่า “เสือจากัวร์ถือเป็นสัตว์ป่าที่เป็นร่มเงา (Umbrella species) ฉะนั้น หากเราปกป้องเสือจากัวร์ก็จะเท่ากับว่าเราได้ช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวพวกมันด้วย สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นการบุกเบิกการตัดสินใจด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ และแนวทางแก้ปัญหาที่อิงธรรมชาติเป็นหลัก”
โครงการนี้ได้ใช้กล้องอินฟราเรด อุปกรณ์เฝ้าติดตามเสียง ระบบคลาวด์ และเอไอ เพื่อรวบรวม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลเสียงและภาพที่มอบความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต 25 สายพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเสือจากัวร์อเมริกาเหนือที่ใกล้สูญพันธุ์ พวกมันถือเป็นสัตว์ป่าที่เป็นร่มเงาอันเป็นตัวชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทั้งหมด โดยข้อมูลที่รวบรวมมานั้นถูกนำไปประมวลผลบนแพลตฟอร์มโมเดลอาร์ตส์ เอไอ (ModelArts AI) ของหัวเว่ย และแพลตฟอร์มอาร์บิมอน เอไอ (Arbimon AI) ของเรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน (Rainforest Connection)
“เราจำเป็นต้องอัปโหลดข้อมูลดังกล่าวไปยังแพลตฟอร์มบิ๊กดาต้า เนื่องจากข้อมูลมีปริมาณมหาศาล” วาคีน ซัลดานา (Joaquin Saldana) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาดของหัวเว่ย ลาตินอเมริกา (Huawei Latin America) กล่าว “เราจำเป็นต้องประมวลผลข้อมูลด้วยเอไอและใช้ความเร็วสูง จากนั้นเราจึงได้เริ่มเข้าใจข้อมูลและตรวจเจอสัตว์ที่เราสนใจได้”
สำหรับพันธมิตรของโครงการนี้นอกเหนือจากซีไมนด์สและหัวเว่ยสาขาเม็กซิโกแล้ว ยังมีไอยูซีเอ็น มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งยูกาตัน (Polytechnic University of Yucatan) เรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน หน่วยงานรัฐบาลประจำรัฐยูกาตัน และกลุ่มชุมชนในท้องถิ่น
นาดีน เซลีม (Nadine Seleem) หัวหน้าโครงการบัญชีสีเขียว (Green List) ของไอยูซีเอ็น กล่าวว่า “โครงการเทคฟอร์เนเจอร์ในเม็กซิโกถือเป็นตัวอย่างที่ชุมชนท้องถิ่นสามารถนำเทคโนโลยีก้าวล้ำมาใช้ เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้สำเร็จ”
ภาพถ่าย 30,000 ภาพ ตลอดจนการบันทึกเสียงอีก 550,000 รายการ และฟุตเทจวิดีโออีกมากมายที่ถูกเก็บรวบรวมและนำมาวิเคราะห์จนถึงปัจจุบัน ทำให้พันธมิตรของเทคฟอร์เนเจอร์ระบุสายพันธุ์สัตว์ป่าได้ถึง 119 สายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสัตว์ปีก 88 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 22 สายพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลาน 5 สายพันธุ์ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 4 สายพันธุ์ โดยในจำนวนนี้มี 34 สายพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีแดงของสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามของไอยูซีเอ็น (IUCN Red List of Threatened Species)
ข้อมูลดังกล่าวได้มอบองค์ความรู้เชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากมายให้กับเหล่านักวิจัย เพื่อนำไปพัฒนามาตรการอนุรักษ์ธรรมชาติซึ่งเกิดจากชุดความเข้าใจระบบนิเวศโดยรวมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เซย์ดา โรดริเกซ โกเมซ (Sayda Rodriguez Gomez) เลขาธิการประจำองค์กรการพัฒนาอย่างยั่งยืนของรัฐยูกาตัน กล่าวว่า “ความรู้เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้รับมาจากการเฝ้าติดตาม หากเราไม่เห็นพวกมัน เราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าพวกมันอยู่ที่นั่น หากผู้คนไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้ พวกเขาก็ช่วยเราไม่ได้”
การปกป้องเสือจากัวร์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนโดยรอบ และชุมชนต่าง ๆ ควรเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
“นี่คือถิ่นที่อยู่ของเสือจากัวร์ หากเราไม่ปกป้องที่อยู่อาศัยของพวกมัน เราคงจะได้เห็นเสือจากัวร์แต่ในหนังสือ” ฮวน คาสติลโญ (Juan Castillo) ผู้นำชุมชนในเขตเทศบาลดซิลัม เดอ บราโว (Dzilam de Bravo) กล่าว
เสือจากัวร์ของเม็กซิโกเผชิญกับภัยคุกคามหลายประการ ทั้งจากการล่าสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่า การสูญเสียที่อยู่อาศัย และภาวะโลกรวน นักนิเวศวิทยาประเมินว่ามีเสือจากัวร์ประมาณ 4,000-5,000 ตัวอาศัยอยู่ในผืนป่าของเม็กซิโก โดยมีเสือจากัวร์มากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในคาบสมุทรยูกาตัน ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในภูมิภาคหลักสำหรับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ของเม็กซิโก
ปัจจุบันทีมงานอยู่ระหว่างพัฒนาอัลกอริทึมที่สามารถระบุเสือจากัวร์แต่ละตัวได้ เพื่อให้คำนวณจำนวนประชากรเสือได้แม่นยำยิ่งขึ้น
ในวันสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ไอยูซีเอ็นและหัวเว่ยจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพการสัมมนาผ่านเว็บในโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น” โดยภายในการสัมมนาที่เตรียมเปิดฉากขึ้นนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จะร่วมกันสำรวจว่าเทคโนโลยีสามารถทำให้การอนุรักษ์ธรรมชาติชาญฉลาดขึ้นได้อย่างไร พร้อมนำเสนอนวัตกรรมและความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ไอยูซีเอ็นและหัวเว่ยจะเปิดตัวสมุดปกขาวภายใต้ชื่อพื้นที่อนุรักษ์อัจฉริยะ (Smart Protected Areas) ที่จะช่วยเปิดทางให้อนุรักษ์ธรรมชาติได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น
เกี่ยวกับโครงการเทคฟอร์เนเจอร์
หัวเว่ยและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการความร่วมมือเทคฟอร์เนเจอร์ ระยะเวลา 3 ปี เมื่อปี 2563 เพื่อประเมินประสิทธิภาพด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเทียบกับมาตรฐานของบัญชีสีเขียวไอยูซีเอ็น (IUCN Green List) โครงการเทคฟอร์เนเจอร์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทคฟอร์ออล ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่มุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมและความยั่งยืนในโลกดิจิทัลของหัวเว่ย
เกี่ยวกับโครงการเทคฟอร์ออล
เทคฟอร์ออล (TECH4ALL) เป็นโครงการริเริ่มและแผนปฏิบัติการระยะยาวของหัวเว่ย ซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและความร่วมมือ เพื่อช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมและความยั่งยืนในโลกดิจิทัล
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์โครงการเทคฟอร์ออลของหัวเว่ย https://www.huawei.com/en/tech4all
ติดตามเราทางทวิตเตอร์ https://twitter.com/HUAWEI_TECH4ALL
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/2082112/With_Huawei_Cloud_artificial_intelligence_experts_identified_jaguars_a_nature.jpg
คำบรรยายภาพ – หัวเว่ย คลาวด์ และเอไอ ช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญค้นพบเสือจากัวร์อย่างน้อย 5 ตัวในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติของดซิลัม รัฐยูกาตัน
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/2082113/The_team_integrated_continuous_monitoring_system_track_jaguars_prey.jpg
คำบรรยายภาพ – ทีมงานใช้ระบบเฝ้าติดตามแบบบูรณาการที่มีความต่อเนื่อง เพื่อติดตามเสือจากัวร์และเหยื่อของพวกมัน