เมื่อวานนี้ หัวเว่ย (Huawei) และพันธมิตร ได้รับรางวัลนิวรอนส์ อวอร์ดส์ สเปเชียล จูรี ไพรซ์ (Neurons Awards Special Jury Prize) ในเทศกาลเวิลด์ เอไอ คานส์ (World AI Cannes Festival หรือ WAICF) ประจำปี 2566 จากโซลูชันที่ใช้เอไอในการอนุรักษ์แซลมอนแอตแลนติกในธรรมชาติที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในนอร์เวย์
แซลมอนแอตแลนติกในธรรมชาติคือส่วนสำคัญของเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของนอร์เวย์ แต่จำนวนแซลมอนแอตแลนติกได้ลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งนับตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 อันเป็นผลจากการเพิ่มจำนวนของแซลมอนแปซิฟิก (หรือที่เรียกว่าแซลมอนสีชมพู หรือแซลมอนหลังค่อม) ซึ่งเป็นสายพันธุ์รุกรานที่แย่งทรัพยากรและวางไข่ในจำนวนที่มากกว่าแซลมอนแอตแลนติก
ในปี 2564 ภายใต้โครงการริเริ่มเทคฟอร์ออล (TECH4ALL) ของหัวเว่ย หัวเว่ยได้ร่วมมือกับสมาคมล่าสัตว์และการประมงแห่งแบร์เลแวค (Berlev?g Jeger-og Fiskerforening หรือ BJFF) ซึ่งเป็นสมาคมพรานและนักตกปลาในท้องถิ่น เพื่อออกแบบและปรับใช้ระบบการกรองแบบเอไอ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของแซลมอนแปซิฟิกในแม่น้ำของนอร์เวย์ โดยโครงการนำร่องทำที่แม่น้ำสโตเรลวา (Storelva) ในเมืองแบร์เลแวค โซลูชันนี้ใช้เทคโนโลยีวิดีโอใต้น้ำและเอไอเพื่อจำแนกแซลมอนแปซิฟิก และระบบประตูอัตโนมัติที่จะแยกสายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานเข้าสู่ถังกัก และกันไม่ให้พวกมันว่ายทวนน้ำขึ้นไปขยายพันธุ์ ช่วยให้แซลมอนแอตแลนติกในธรรมชาติและแซลมอนจุดแดงอาร์กติกสามารถผสมพันธุ์ได้
การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นและการอยู่รอดของแซลมอนแอตแลนติกในธรรมชาติ มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมประมงของนอร์เวย์ เนื่องจากยีนของแซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์มนั้นดึงมาจากแซลมอนในธรรมชาติ
“แซลมอนในธรรมชาติของนอร์เวย์ถูกคุกคามโดยสายพันธุ์อื่น ทั้งจากแซลมอนหลังค่อมและแซลมอนฟาร์มที่หลุดรอดไป ระบบตรวจสอบโดยใช้เอไอกำลังช่วยหยุดยั้งสิ่งนี้ ทำให้ดูแลแม่น้ำให้รองรับกับอนาคตได้” ทอร์ ชูลสตัด (Tor Schulstad) ผู้บริหารงานของ BJFF กล่าว
ซิมูลา คอนซัลติง (Simula Consulting) และโทรลล์ ซิสเต็มส์ (Troll Systems) ซึ่งเป็นพันธมิตรในท้องถิ่น นำแพลตฟอร์มแอสเซนด์ (Ascend) ของหัวเว่ยที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผลของโซลูชันดังกล่าวไปใช้พัฒนาอัลกอริทึมการจดจำและกลไกการคัดแยกอัตโนมัติ
“การได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการช่างน่าตื่นเต้นและสร้างแรงบันดาลใจมาก ที่ซิมูลา คอนซัลติง เรามุ่งมั่นที่จะทำให้เทคโนโลยีเชิงลึกพร้อมใช้งานสำหรับทุกคน และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นว่าสิ่งนี้รวมถึงสัตว์ในธรรมชาติด้วย” ดร.โอมาร์ ริชาร์ดสัน (Omar Richardson) รักษาการประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของซิมูลา คอนซัลติง กล่าว
รางวัลนิวรอนส์ สเปเชียล จูรี ไพรซ์ (Neurons Awards Special Jury Prize) ซึ่งเปิดตัวในปีนี้ในเทศกาลเวิลด์ เอไอ คานส์ ยกย่องโครงการที่ใช้เอไอเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและการสร้างอนาคตที่ดีกว่า โดยผู้ชนะจะถูกเลือกโดยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทน 12 คน จากวงการธุรกิจ สถาบันการศึกษา และชุมชนการเมือง
“เรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลนิวรอนส์ อวอร์ดส์ สเปเชียล ไพรซ์ ครั้งแรกจากงาน WAICF หัวเว่ยเชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยีดิจิทัล ในการสร้างสังคมที่ครอบคลุมและยั่งยืนยิ่งขึ้น” จาง หมิงกัง (Zhang Minggang) รองกรรมการผู้จัดการของหัวเว่ย ประเทศฝรั่งเศส กล่าว “โครงการนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเอไอสร้างความแตกต่างในการปกป้องโลก และเราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราต่อไป เพื่อส่งมอบการเปลี่ยนแปลงผ่านนวัตกรรม ด้วยความเชื่อมั่นนี้ เราจึงเปิดตัวโครงการริเริ่มเทคฟอร์ออล ซึ่งหัวเว่ยได้มีส่วนร่วมในโครงการหลายสิบโครงการที่ส่งผลดีต่อชุมชน ผู้คน และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก”
หลังจากประสบความสำเร็จกับโครงการนำร่องในแบร์เลแวค โซลูชันที่ปรับขนาดได้นี้อาจขยายไปยังระบบแม่น้ำ 500 สายของนอร์เวย์ที่กำลังประสบปัญหาเดียวกันเรื่องการรุกรานของแซลมอนแปซิฟิก
เกี่ยวกับหัวเว่ย เทคฟอร์ออล
เทคฟอร์ออล (TECH4ALL) เป็นโครงการริเริ่มระยะยาวที่หัวเว่ยเปิดตัวขึ้นเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางดิจิทัล โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทอดทิ้งในโลกดิจิทัลนี้ และมุ่งเน้นใน 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ การทำให้การศึกษาคุณภาพสูงเป็นที่ทั่วถึง การอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพอย่างเสมอภาค และการพัฒนา
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์หัวเว่ย เทคฟอร์ออล https://www.huawei.com/en/tech4all
ติดตามเราบนทวิตเตอร์
รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/2000710/KOV_3603.jpg