ผลการวิจัยที่รวบรวมข้อมูลจากทั่วโลกซึ่งเผยแพร่ในงานประชุม European Society for Organ Transplantation (ESOT) Congress ประจำปี 2564 ระบุว่า ระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกในปี 2563 ยอดการปลูกถ่ายอวัยวะแบบเป็นชิ้นส่วนลดลง 31% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
จากการคำนวณด้วยโมเดลคณิตศาสตร์ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นในการปลูกถ่ายอวัยวะได้ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต โดยมีจำนวนปีที่สูญเสียไปก่อนวัยอันควรราว 48,000 ปี
การวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจาก 22 ประเทศ และแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างมากในแนวทางการรับมือกับโควิด-19 ของการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศต่างๆ โดยมีบางประเทศที่ยอดการปลูกถ่ายอวัยวะลดลงกว่า 90%
การปลูกถ่ายไตมียอดปลูกถ่ายลดลงมากที่สุดในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 สำหรับทุกประเทศ โดยผลวิจัยพบว่า ยอดการบริจาคอวัยวะจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตลดลง 40% สำหรับไตและ 33% สำหรับตับ ส่วนยอดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้เสียชีวิตนั้น พบว่าลดลง 12% สำหรับไต, 9% สำหรับตับ, 17% สำหรับปอด และ 5% สำหรับหัวใจ
นอกจากนี้ ผลการวิจัยดังกล่าวยังได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Lancet Public Health โดยชี้ให้เห็นแนวทางที่บางประเทศใช้เพื่อให้สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต่อไปได้ด้วยอัตราเดิม ในขณะที่บางประเทศกลับมียอดการปลูกถ่ายอวัยวะน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงบางพื้นที่ที่ไม่มีการบริจาคไตและตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิตเลย โดยรวมแล้วผลวิจัยพบว่า มีความเชื่อมโยงในแง่เหตุการณ์ก่อนและหลัง ระหว่างอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น และยอดการปลูกถ่ายอวัยวะแบบเป็นชิ้นส่วนที่ลดลงในภายหลัง ไม่ว่าจะมาจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตหรือผู้เสียชีวิต
ดร. Olivier Aubert หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกสร้างความเสียหายรุนแรงต่อกระบวนการปลูกถ่ายอวัยวะในหลายๆ ประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะ ทั้งยังนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมาก”
ศาสตรจารย์ Alexandre Loupy ผู้อำนวยการศูนย์ Paris Translational Research Center for Organ Transplantation และผู้ร่วมวิจัย กล่าวเสริมว่า “การปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต ซึ่งมีจำนวนลดลงอย่างมาก ต้องใช้ทรัพยากรและการวางแผนมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้เสียชีวิต และมีความยุ่งยากซับซ้อนอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งยังมีประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริจาคอวัยวะด้วย”
“เห็นได้ชัดว่ามีการเสียชีวิตมากมายที่เป็นผลโดยอ้อมจากโควิด-19 และงานวิจัยของเราก็ได้ยืนยันว่า การแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการแพทย์หลายแขนง”
จำนวนปีที่สูญเสียไปก่อนวัยอันควรของผู้เสียชีวิตที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะอยู่ที่ 37,664 ปีสำหรับไต, 7,370 ปีสำหรับตับ, 1,799 ปีสำหรับปอด และ 1,406 ปีสำหรับหัวใจ รวมทั้งหมด 48,239 ปี