รายงานพลเมืองโลกของเฮนลี่ย์ (Henley Global Citizens Report) ฉบับแรก ซึ่งรวบรวมข้อมูลสุดเอกซ์คลูซีฟมาจากบริษัทนิวเวิลด์เวลท์ (New World Wealth) ได้เปิดเผยรายชื่อประเทศที่ครองความมั่งคั่งส่วนบุคคลสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศที่มีความต้องการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร โดยการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานเปิดโอกาสให้นักลงทุนผู้มั่งคั่งเข้าลงทุนจำนวนมากในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อแลกกับการได้รับสัญชาติหรือสิทธิในการพำนักอาศัยในประเทศนั้น ๆ ทั้งนี้ ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา มีปัจจัยสำคัญที่เรียกว่า “2 ซี” (Two Cs) ที่เป็นตัวขับเคลื่อนความมั่งคั่งและการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐาน ได้แก่ โควิด (Covid) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และในปี 2565 ซีตัวที่ 3 ก็ได้ปรากฏขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว นั่นคือ ความขัดแย้งในยุโรป (Conflict in Europe)
สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดความมั่งคั่งส่วนบุคคลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วน 32% ของทั้งหมดทั่วโลก และคิดเป็น 36% ของจำนวนมหาเศรษฐี (ผู้มีความมั่งคั่งสูง) ทั่วโลก โดยมีมูลค่าทรัพย์สินส่วนบุคคลรวม 68.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังมีอัตราการเติบโตของประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูงมากที่สุดในบรรดา 10 ประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาจาก “ทรัพย์สินทั้งหมด” (กลุ่ม W10) ในปีที่แล้ว ด้วยอัตราการเติบโต 10% ขณะที่จีนซึ่งเป็นอันดับสองในกลุ่ม W10 มีมูลค่าทรัพย์สินส่วนบุคคลรวม 23.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวหนึ่งในสามของสหรัฐอเมริกา และมีอัตราการเติบโตของประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูงที่ระดับ 4%
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เนื่องจากอัตราการเติบโตของกลุ่มผู้มีความมั่งคั่งสูงในอีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 20% สำหรับสหรัฐอเมริกา ขณะที่ของจีนคาดว่าจะสูงถึง 50% ส่วนทางด้านญี่ปุ่นซึ่งตามมาเป็นอันดับสามนั้น มีมูลค่าทรัพย์สินส่วนบุคคลรวม 20.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตของประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูงที่ระดับ 3% ในปีที่แล้ว ขณะที่อัตราการเติบโตในอีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 30% สำหรับประเทศอื่น ๆ ที่ติดกลุ่ม W10 ประกอบด้วยอินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และอิตาลี
ดร. ยอร์ก สเตฟเฟน (Dr. Juerg Steffen) ซีอีโอของเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส (Henley & Partners) กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่แต่ละประเทศในกลุ่ม W10 มีกฎหมายรองรับการมอบสิทธิในการพำนักให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ และ 5 ประเทศในจำนวนนี้มีโปรแกรมการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานอย่างเป็นทางการ ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นตลาดการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานที่สำคัญทั้งในแง่ของอุปทาน เพราะมีโปรแกรมที่น่าดึงดูดใจและประสบความสำเร็จ และในแง่ของอุปสงค์ เพราะประชากรนักลงทุนผู้มั่งคั่งมีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
รายงานพลเมืองโลกของเฮนลี่ย์ยังเผยให้เห็นว่า พลเมืองอินเดียแสดงความสนใจลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานอย่างมาก โดยเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส ได้รับการสอบถามข้อมูลจากพลเมืองอินเดียมากที่สุดในปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นถึง 54% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งในปีนั้นก็เพิ่มขึ้นถึง 63% ส่วนพลเมืองสหรัฐอเมริกาตามมาเป็นอันดับสอง โดยเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส ได้รับการสอบถามจากพลเมืองอเมริกาเพิ่มขึ้น 26% ในปี 2564 หลังจากที่พุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 208% ในปี 2563 ส่วนการสอบถามจากพลเมืองอังกฤษและแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้น 110% และ 38% ตามลำดับในปี 2564
โดมินิก โวเลก (Dominic Volek) ประธานกลุ่มฝ่ายลูกค้ารายบุคคลของเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส กล่าวว่า “ประเทศที่เหลือที่ติด 10 อันดับประเทศที่สอบถามข้อมูลเข้ามามากที่สุด ล้วนมาจากซีกโลกใต้ ยกเว้นเพียงแคนาดาที่อยู่ในอันดับ 9 ซึ่งมีการสอบถามเข้ามาเพิ่มขึ้นถึง 86% ส่วนในปี 2565 นี้ก็มีแนวโน้มที่คล้ายคลึงกันมาก และมีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเติบโตแซงหน้าปีที่แล้ว ทั้งกลุ่ม W10 และประเทศกำลังพัฒนาที่ติดท็อป 10 สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานมีความน่าดึงดูดใจในระดับสากลสำหรับครอบครัวผู้มั่งคั่ง เพราะนอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ทั่วไปในการเดินทางได้มากขึ้นทั่วโลกแล้ว โปรแกรมการลงทุนเพื่อขอสัญชาติและสิทธิพำนักอาศัยยังช่วยบรรเทาความเสี่ยงและช่วยกระจายการลงทุนในแง่ของการจัดการความมั่งคั่งและมรดก พร้อมมอบตัวเลือกการอยู่อาศัยอย่างเป็นหลักแหล่งด้วย”
ดูแนวโน้มที่สำคัญทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคได้ที่ https://www.henleyglobal.com/newsroom/press-releases/henley-global-citizens-report-march-2022