สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดตัวโครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 เดินหน้าจัดทำสำมะโนการเกษตร เก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรจากผู้ถือครองทำการเกษตร (ครัวเรือน/สถานประกอบการเกษตร) ที่อยู่ในระบบทะเบียนเกษตรกรและนอกระบบทะเบียนเกษตรกรโดยดำเนินการในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อนำมาประมวลผลเป็นข้อมูลสถิติและเผยแพร่ข้อมูลซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “เราวางแนวทางและกำหนดนโยบายในการพัฒนาด้านการเกษตรทั้งในระดับประเทศและท้องถิ่น โดยข้อมูลที่รวบรวมในสำมะโนการเกษตร ได้แก่ จำนวนผู้ถือครองทำการเกษตร ขนาดเนื้อที่ถือครองทำการเกษตร การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร การประกอบกิจกรรมทางการเกษตร และปัจจัยทางการเกษตรอื่นๆ เพื่อให้มีข้อมูลสถิติที่นำเสนอผลในระดับพื้นที่ย่อย (หมู่บ้าน/ชุมชน) ได้ ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีข้อแนะนำให้ประเทศสมาชิกจัดทำสำมะโนการเกษตรเพื่อใช้ประโยชน์ อย่างเพียงพอสำหรับการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาประเทศด้านการเกษตรและคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคการเกษตรของประเทศ พร้อมทั้งสามารถเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างประเทศได้ สำหรับการจัดทำสำมะโนการเกษตรของประเทศไทยนั้น สสช. ได้จัดทำมาแล้ว 6 ครั้ง ครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2556 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ FAO ที่ให้ทุกประเทศจัดทำสำมะโนการเกษตรทุก 10 ปี เป็นอย่างน้อย สสช. จึงได้กำหนดให้มีการจัดทำสำมะโนการเกษตรอีกครั้งในปี พ.ศ. 2566”
ทางด้าน ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า“การจัดทำสำมะโนการเกษตรในครั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ยกระดับวิธีการจัดทำสำมะโนให้ทันสมัยและเป็นมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูล โดยได้เชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกลางหรือ Farmer One มาสร้างเป็นฐานข้อมูลผู้ถือครองการเกษตร สำหรับสำมะโนการเกษตรกรและพัฒนาไปสู่การจัดทำสำมะโนจากข้อมูลทะเบียนอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีข้อมูลอย่างเพียงพอในการติดตามและกำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศรวมถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยหน่วยงานต่างๆ สามารถใช้ข้อมูลสำมะโนที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือไปพัฒนาการจัดทำสถิติด้านการเกษตรของประเทศด้วยรูปแบบการบูรณาการระหว่างหน่วยงานและใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกัน”
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับใช้ในการดำเนินการโครงการสำมะโนการเกษตร ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ครบถ้วน และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลที่สามารถใช้อ้างอิงในการเปรียบเทียบกับนานาชาติได้ และในการรวบรวมข้อมูลการจัดทำโครงการสำมะโนการเกษตรใน พ.ศ. 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติจะเก็บข้อมูลทั้งผู้ที่อยู่ในระบบทะเบียนและนอกระบบทะเบียนจากเกษตรกรทุกรายสำหรับการวางแผนและพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ โดยการเก็บข้อมูลสำมะโนการเกษตรครอบคลุมในด้านต่างๆ ดังนี้
• การปลูกพืช เช่น ข้าว ยางพารา พืชยืนต้น ไม้ผลและสวนป่า รวมไปถึงไม้ดอกไม้ประดับทุกชนิด
• การเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ไก่ เป็ด ห่าน ไหม และสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
• การเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด (รวมถึงการเพาะฟัก/รวมถึงการอนุบาลสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด) ได้แก่สัตว์จำพวกปลา กุ้ง และสัตว์น้ำอื่นๆ
• การทำนาเกลือสมุทร
การดำเนินโครงการสำมะโนการเกษตรในครั้งนี้ มีระยะเวลาการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยผู้ที่เก็บรวบรวมข้อมูล คืออาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) อาสาสมัครเกษตรประเภทอื่นภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในการปฏิบัติงานดังกล่าว การทำสำมะโนการเกษตรเป็นกระบวนการทางสถิติในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประมวลผลข้อมูล และนำเสนอผลเพื่อให้เกิดข้อมูลสถิติการเกษตรที่ทันสมัย โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ในทุกภาคส่วน และยังเป็นฐานข้อมูลผู้ถือครองพื้นที่การเกษตรทั้งผู้ที่อยู่ในและนอกระบบทะเบียนการเกษตรโดยสามารถใช้ข้อมูลในการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานเพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งยังก่อให้เกิดข้อมูลการเกษตรระดับพื้นที่ย่อยไปจนถึงระดับประเทศเพื่อใช้ในการบริหารและกำหนดนโยบายเพื่อเกษตรกรและประชาชนในภาคเกษตร
นอกเหนือจากนี้ การทำสำมะโนการเกษตรทำให้มีข้อมูลในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทาง การเกษตร การพัฒนาภาคการเกษตร รวมถึงประชากรภาคการเกษตรของประเทศ และข้อมูลการทำสำมะโนการเกษตรสามารถใช้เป็นกรอบตัวอย่าง (Sampling Flame) สำหรับการสำรวจด้านการทำเกษตรและเป็นช่องทางในการสะท้อนปัญหาที่สามารถเก็บข้อมูลความต้องการหรือข้อร้องเรียนของเกษตรกรได้อีกด้วย