สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ “ความงามของโอกาส”

เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปีของการรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะภายใต้หัวข้อ “ความงามของโอกาส” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ เรื่องราว และมุมมองของศิลปินและนักออกแบบ เกี่ยวกับประชากรในรั้วเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองเกี่ยวกับคุณค่าของบุคคล ศักยภาพ อิสรภาพ ความเท่าเทียม และความสำคัญของการให้โอกาสผู้ก้าวพลาดในรูปแบบต่างๆ จากสังคม ที่จะช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างสง่างามอีกครั้ง งานครั้งนี้ได้รวบรวมผลงานศิลปะและงานออกแบบ 6 แขนง ที่สะท้อนถึงมุมมองและแรงบันดาลใจของ 7 ศิลปิน ได้แก่
– ผลงานภาพถ่าย “โอกาสที่งดงาม” โดย คุณนพพล ชูกลิ่น
– ผลงานภาพวาดสีอะคริลิก “Call Me by My Name” โดย คุณจาริณี เมธีกุล
– ผลงานวาดภาพประกอบ “โอบกอด โอกาส” โดย คุณอนุชิต คำน้อย เจ้าของเพจเฟซบุ๊ค “คิ้วต่ำ”
– ผลงานสตรีทอาร์ท “Hourglass” โดย “Abi” หรือ คุณนรรัตน์ ถวิลอนันต์
– ผลงาน “โอกาสจากงานช่าง” โดยผู้ต้องขังในโครงการช่างสิบหมู่เรือนจำพิเศษธนบุรี ที่ฝึกสอนโดยอาจารย์พิรุณ ศรีเอี่ยมสะอาด ครูช่างศิลปหัตถกรรมประจำปี 2556
– ผลงานภาพถ่าย “บทพิสูจน์ชั่วชีวิตของอดีตนักโทษสู่สังคม” โดย คุณสมศักดิ์ เนตรทอง ช่างภาพสารคดีประจำสำนักข่าว PPTV
– ผลงานออกแบบสถาปัตยกรรม “โอกาสสถาน” โดย นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภายใต้การดูแลของ ผศ. ดร. ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
โดยในแต่ละวันจะมีการหมุนเวียนของศิลปินที่มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับแรงบันดาลในในการสร้างงานศิลปะและมุมมองเกี่ยวกับการให้โอกาส รวมถึงกิจกรรมเวิร์คช้อป รายละเอียดกิจกรรมแต่ละวันปรากฏตาม https://www.tijthailand.org/th/highlight/detail/bangkok-rules-11-anniversary
นิทรรศการความงามของโอกาสเปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 22 – 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ตั้งแต่เวลา
10.00 – 19.00 น. ณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ตามอัธยาศัย และสามารถสำรองที่นั่งสำหรับบริการนำชมนิทรรศการโดยมีเจ้าหน้าที่บรรยาย (Guided Tour) และกิจกรรมเสวนา ได้ที่ https://forms.gle/fa5PorAEtPuFFJ7z9 (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

เกี่ยวกับข้อกำหนดกรุงเทพ
ข้อกำหนดกรุงเทพ หรือ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศที่ทั่วโลกยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการดูแลผู้ต้องขังหญิง โดยข้อกำหนดดังกล่าวได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553 โดยตลอดระยะเวลากว่า 11 ปีที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มีบทบาทในการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม และการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนผู้พ้นโทษในการกลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน