ยังคงเป็นกระแสอยู่อย่างต่อเนื่อง กับโรคยอดฮิตที่กำลังถูกพูดถึงช่วงนี้ กับภาวะ “โรคฮีทสโตรก” หรือ “โรคลมแดด” ภาวะที่คร่าชีวิตใครหลายคนในภาวะอากาศอบอ้าวเช่นนี้ แต่ทราบหรือไม่ว่า ไม่เพียงแค่มนุษย์อย่างเราๆ สัตว์เลี้ยงของเราเอง ก็ต้องเผชิญความร้อนอบอ้าวนี้ จนสามารถเกิดอาการช็อคจาก “ฮีทสโตรก” จนนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตแก่สัตว์เลี้ยงของเราได้ วันนี้ อาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อสุขภาพ เรมี่ (Remy) โดย กลุ่มบริษัทพัทยาฟู้ด และ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ชวน “สัตวแพทย์” มาร่วมแชร์ข้อมูล เกี่ยวกับภาวะ “โรคฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง” ภัยเงียบที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และไม่ควรมองข้าม เพื่อล้อมรั้วป้องกันการสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่เป็นดั่งสมาชิกในครอบครัวที่รักของเราไป
สัตวแพทย์หญิง พนิดา เดชมณีธรชัย สัตวแพทย์ประจำคลินิกแมว โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ กล่าวว่า “โรคลมแดด” หรือ “ฮีทสโตรก(Heat Stroke)ในสัตว์เลี้ยง” เป็นภาวะที่ร่างกายของสัตว์ไม่สามารถระบายความร้อนออกมาได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ คือสูงกว่า 41 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมว เพราะปกติสัตว์เลี้ยงกลุ่มนี้จะมีต่อมเหงื่อบริเวณฝ่าเท้าและจมูกเท่านั้น การระบายความร้อนจึงต้องอาศัยการหายใจและการหอบเป็นหลัก เมื่อความร้อนที่เพิ่มมากขึ้น จนร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน จะส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะภายในต่าง ๆ เกิดความผิดปกติต่อการเต้นของหัวใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต ตับ ไต ตลอดจนเกิดภาวะ ชัก มึน งง อาเจียน ท้องเสียเป็นเลือด
ซึ่งแท้จริงแล้วอาการดังกล่าว เกิดขึ้นได้ง่ายและเกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกฤดูกาล เพียงแต่จะมีความเสี่ยงมากในพื้นที่อบอ้าวอากาศถ่ายเทไม่ดี หรืออากาศร้อนจัดและมีความชื้นสูง ที่สำคัญสามารถเกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงทุกชนิด แต่จากสถิติจะพบได้บ่อยในสุนัขมากกว่าแมว โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ที่ขนยาว ขนหนา พันธุ์หน้าสั้น ตลอดจนกลุ่มสัตว์เลี้ยงที่มีหน้าสั้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะดังกล่าว อย่างสัตว์เลี้ยงที่มีโรคประจำตัว อาทิ สัตว์เลี้ยงที่ป่วยในกลุ่มโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคหลอดลมตีบ และภาวะอัมพาตกล่องเสียง เป็นต้น”
สัตวแพทย์หญิง พนิดา อธิบายต่อว่า “อาการฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง มักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดและมีความชื้นสูง ดังนั้น เจ้าของต้องคอยสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตนเองบ่อยๆ ซึ่งอาการของภาวะฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง จะมีได้หลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็น
– อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 41 องศาเซลเซียส (106 องศาฟาเรนไฮต์)
– มีอาการหอบ หายใจเร็ว หายใจลำบาก หรือหายใจรุนแรงกว่าปกติ
– หัวใจเต้นเร็วผิดปกติหรือเต้นผิดจังหวะ
– น้ำลายไหลเยอะ จมูกและปากเปียก
– เหงือกสีแดงเข้ม
– มีอาการชัก กล้ามเนื้อสั่นเกร็ง หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด”
สัตวแพทย์หญิง พนิดา แนะนำว่า “การปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นโรคลมแดด สิ่งสำคัญคือการทำให้อุณหภูมิร่างกายของสัตว์ลดลง แต่อย่าให้ลดลงเร็วจนเกินไป โดยควรปฏิบัติ ดังนี้
1. นำสัตว์เลี้ยงมาอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวกทันที จากนั้นถอดเสื้อผ้าหรือปลอกคอที่ทำให้สัตว์อึดอัดออก
2. ใช้ผ้าชุบน้ำอุณหภูมิห้องมาเช็ดตัวสัตว์เลี้ยง รวมถึงเช็ดใต้ฝ่าเท้า รักแร้ และขาหนีบ เพื่อช่วยระบายความร้อน ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำที่อุ่นเกินไป เพราะสัตว์อาจเกิดภาวะช็อคได้
3. นวดบริเวณขาเพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด
4. ควรรีบนำสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาลเพื่อให้สัตวแพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างละเอียด
5. ห้าม ให้ยาโดยไม่ได้รับการพิจารณาจากสัตวแพทย์เด็ดขาด
อย่างไรก็ดี ผู้เลี้ยงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวที่อาจก่ออันตรายแก่สัตว์เลี้ยงได้ อาทิ
1. ห้ามทิ้งสัตว์เลี้ยงไว้ในรถ หรือสถานที่ไม่มีที่ระบายอากาศ เพราะแม้ว่าจะอยู่ในสภาพอากาศที่ไม่ร้อนมากก็ตาม ก็สามารถเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะฮีทสโตรกได้
2. ไม่พาสุนัขออกกำลังกาย หรือวิ่งเล่นเป็นเวลานาน หากสุนัขดูหอบมากกว่าปกติ อาจเป็นสัญญาณเริ่มแรกของฮีทสโตรก
3. หลีกเลี่ยงให้สุนัขอยู่ในสภาพอากาศชื้น ตลอดจนให้สัตว์เลี้ยงไปอยู่ในบริเวณที่อากาศร้อนและอากาศถ่ายเทไม่ดี เพราะจะไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้
4. ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงนอนแช่ในน้ำเย็นจัดๆ หรือน้ำที่มีน้ำแข็งแช่ เนื่องจากจะทำให้อุณหภูมิร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเกินไป อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ควรให้น้องๆ ได้ดื่มน้ำเย็น หรือน้ำใส่น้ำแข็งเพื่อช่วยลดอุณหภูมิร่างกายและคลายร้อนแทน
“ฮีทสโตรกเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างมาก การอยู่ในพื้นที่อบอ้าว อากาศถ่ายเทไม่ดี จะส่งผลทำให้เกิดความเครียด ความดันเลือดต่ำ หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง เมื่อการระบายความร้อนในร่างกายสัตว์เลี้ยงเกิดความบกพร่อง มีโอกาสก่อให้เกิดภาวะฮีทสโตรกตามมา และหากอาการรุนแรง อาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ ยิ่งบางพื้นที่ในประเทศไทยเรามีอากาศร้อนตลอดเวลา โรคลมแดดจึงมีโอกาสเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงได้เสมอ ดังนั้น เจ้าของควรใส่ใจและสังเกตอาการ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยง ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วพามาพบสัตวแพทย์ทันที เพราะ ‘สัตว์เลี้ยงแสนรัก’ คือ ‘สมาชิกคนสำคัญ’ ในครอบครัว” สัตวแพทย์หญิง พนิดา ทิ้งท้าย