รถไฟขนส่งสินค้าจากเขตชิงไป๋เจียงในเมืองเฉิงตูมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าโลก

เขตชิงไป๋เจียง ในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการสนับสนุนโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) และการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยเขตชิงไป๋เจียงบรรลุความสำเร็จนี้ได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากสถานีรถไฟนานาชาติเฉิงตูอย่างเต็มที่

รถไฟด่วนจีน-ยุโรป (เฉิงตู) ที่ออกเดินทางจากสถานีรถไฟนานาชาติเฉิงตู เริ่มให้บริการครั้งแรกในปี 2556 และปัจจุบันทำผลงานเหนือกว่าคู่แข่งหลายรายในจีน ส่งผลให้เฉิงตูอยู่ในแนวหน้าของการเปิดกว้างเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศ

สถานีรถไฟแห่งนี้ได้สร้างเครือข่ายรถไฟระหว่างประเทศที่มีเฉิงตูเป็นศูนย์กลาง โดยเชื่อมกับยุโรป มองโกเลีย รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน

รถไฟที่ออกจากสถานีแห่งนี้เดินทางไปยัง 65 เมืองในต่างประเทศ เช่น เมืองลอดซ์ในโปแลนด์ และ เมืองนูเรมเบิร์กในเยอรมนี รวมถึง 20 เมืองในจีน

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เส้นทางเฉิงตูเปิดเดินรถไฟขนส่งสินค้ามากกว่า 2,800 ขบวน

บริการรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปถือเป็นช่องทางหลักที่เชื่อมตลาดทั่วโลก เนื่องจากมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพสูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทข้ามชาติมากขึ้น

ตั้งแต่ปี 2559 บริษัท TCL Technology Group ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจากเมืองฮุ่ยโจว มณฑลกวางตุ้ง ได้ย้ายการผลิตบางส่วนมายังเฉิงตูและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังยุโรปด้วยรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป ในปี 2563 TCL ใช้บริการรถไฟขนส่งสินค้าเฉลี่ย 2 ขบวนต่อสัปดาห์เพื่อขนส่งสินค้าไปยังยุโรป คิดเป็นจำนวนตู้คอนเทนเนอร์กว่า 4,000 ตู้ตลอดทั้งปี

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนที่ผ่านมา บริษัท Changhong Group จากเสฉวน ได้เช่ารถไฟ 4 ขบวนไปยังยุโรปเพื่อขนส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะ เช่น ตู้เย็นและส่วนประกอบทีวี LCD โดยหลังจากนี้บริษัทจะรักษาระดับความถี่ของการใช้รถไฟขนส่งราว 1-2 ขบวนต่อเดือน

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา Konka Group ผู้ผลิตทีวีชั้นนำของจีน ได้ขนส่งทีวีไปยังยุโรปเป็นครั้งแรกด้วยรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป และคาดว่าบริษัทจะส่งออกสินค้ามากกว่า 200,000 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 100 ล้านหยวนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ในปี 2563 เส้นทางเฉิงตูขนส่งสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.507 แสนล้านหยวนทั้งขาเข้าและขาออกจากจีน ซึ่งช่วยกระตุ้นการค้าต่างประเทศในเสฉวนได้อย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายต่อไปของสถานีรถไฟนานาชาติเฉิงตูคือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะสถานีขนส่งหลัก รวมถึงการยกระดับห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ

รูปภาพ – https://mma.prnewswire.com/media/1627525/1.jpg