“มารู้จัก นปร. กัน ” โครงการนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.)

นปร. คืออะไร?
นปร. ย่อมาจาก โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (Public Service Executive Development Program: PSED) คือ โครงการที่สรรหา คัดเลือก บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีสมรรถนะสูง เพื่อเข้ารับราชการและพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการสอนงานเพื่อถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรที่มากประสบการณ์ รวมถึงการปฏิบัติราชการในหน่วยงานต่างๆ โดยการสอนงานของผู้บริหารระดับสูง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้ข้าราชการในโครงการฯ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานภาครัฐที่มีความสามารถ เป็นทั้งนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ (Visionary Thinker) นักพัฒนาและวางแผน (Developer & Planner) และนักปฏิบัติ (Operator) ได้อย่างสมดุล มีความสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านความคิด ด้านวิชาการ และการบริหารจัดการองค์การ
ที่มาของโครงการ
ในสมัยเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินให้มีความทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานศึกษาวิชาข้าราชการพลเรือนขึ้น เพื่อเตรียมพระราชกุมารลงไปจนถึงบุตรผู้มีบรรดาศักดิ์และนักเรียนชั้นสามัญก่อนที่จะเข้ารับราชการ ซึ่งต่อมาพระราชทานนามว่า “โรงเรียนมหาดเล็ก” ให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีที่ข้าราชการก่อนไปรับตำแหน่งในกรมอื่น ๆ ต้องถวายตัวศึกษาราชการในกรมมหาดเล็กก่อน
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงเปลี่ยนนามโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรวบรวมโรงเรียนอุดมศึกษาฝ่ายพลเรือนแผนกต่างๆ อาทิ โรงเรียนรัฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนครุศึกษา และโรงเรียนยันตรศึกษา เข้าเป็นระบบเดียวกันสำหรับฝึกหัดข้าราชการพลเรือน ในทำนองเดียวกับโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายเรือ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถึงแม้ในเวลาต่อมา มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะสามารถจัดการเรียนการสอนและผลิตคนเข้าสู่ระบบราชการได้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษาไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำการฝึกหัดข้าราชการฝ่ายพลเรือนเป็นการเฉพาะ และบรรดาผู้สำเร็จการศึกษาต่างก็ไม่นิยมสมัครเข้ารับราชการเช่นในอดีต ประกอบกับปัญหาระบบราชการไทยที่ไม่ได้มีการจัดเตรียมและพัฒนาข้าราชการอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการสอนงานเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์รวมถึงการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จึงได้เสนอให้มีโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ขึ้น เพื่อสรรหา คัดเลือกบุคคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะสูงเข้ารับราชการ และพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในหน่วยงานภาครัฐที่มีความสามารถซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 และวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2551 จึงได้มีมติอนุมัติในหลักการให้สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ต่อไปให้เกิดความต่อเนื่อง และบังเกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการ ปีละ 1 รุ่น โดยให้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1) เพื่อเป็นช่องทางใหม่ในการดึงดูดบุคคล ที่มีความรู้ ความสามารถสูง เข้าสู่ระบบราชการ
2) เพื่อพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้เป็นข้าราชการที่เก่งและดี และเป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ที่มีสมรรถนะครบครัน ทั้งในด้านการเป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ (Visionary Thinker) นักพัฒนาและวางแผน (Developer & Planner) และนักปฏิบัติ (Operator) อย่างสมดุล รวมทั้งมีความพร้อมในการริเริ่มและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงยุทธศาสตร์ในการบริหารภาครัฐต่อไป
3) เพื่อให้มีเวทีในการรวบรวม ถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารภาครัฐระหว่างผู้บริหาร วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ เพื่อให้มีการบริหารองค์ความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งความรู้ที่สั่งสมไว้ในตัว (Tacit Knowledge) และความรู้ที่เปิดเผย (Explicit Knowledge) เพื่อเสริมสร้างขีดสมรรถนะในการบริหารภาครัฐของไทย
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการฯ
ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปในสาขาวิชาใดๆ จากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่ได้รับการรับรอง โดยมีอายุไม่เกิน 30 ปี หรือ มีอายุไม่เกิน 35 ปี สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก
โดยมาจากบุคคล 3 กลุ่ม ดังนี้
1) กลุ่มบุคคลผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษา
2) กลุ่มบุคคลภายนอกจากภาคเอกชน หน่วยงาน หรือ องค์การระหว่างประเทศ คือ มีประสบการณ์การทำงานจากภาคเอกชน หน่วยงาน หรือ องค์การระหว่างประเทศ
3) กลุ่มข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆ ในกรณีที่เป็นข้าราชการต้องได้รับคำยินยอมจากผู้บังคับบัญชา (หัวหน้าส่วนราชการ) ให้เข้าร่วมโครงการฯ โดยผู้บังคับบัญชาต้องลงนามคำยินยอมในใบสมัครฯ
วิธีการคัดเลือก
ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ จะต้องผ่านการทดสอบความรู้ใน 3 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : การทดสอบความรู้พื้นฐาน
ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่จะต้องผ่านการทดสอบความรู้พื้นฐาน ประกอบด้วย
1) วิชาความสามารถทางภาษาไทย (เน้นความสามารถทางด้านการสื่อสาร)
2) วิชาความถนัดทางเชาวน์ปัญญา
3) วิชาความสามารถทางภาษาอังกฤษ (CU-TEP)
โดยผู้สมัครที่มีผลการสอบ TOEFL มากกว่า 550 คะแนน (สำหรับการสอบแบบ Paper-based Testing) หรือมากกว่า 213 คะแนน (สำหรับการสอบแบบ Computer-based Testing) หรือผลสอบ IELTS ที่มีคะแนน 6.0 ขึ้นไป ซึ่งผลสอบดังกล่าวจะต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับจากวันสอบถึงวันที่สมัคร จะได้รับการยกเว้นการสอบวิชาความสามารถทางภาษาอังกฤษ (CU-TEP)

ผู้สมัครจะต้องสอบผ่านการทดสอบความรู้พื้นฐานขั้นตอนที่ 1 จึงจะมีสิทธิ์เข้าทดสอบในขั้นตอนที่ 2

ขั้นตอนที่ 2 : การทดสอบข้อเขียนและการทดสอบสภาวะจิตใจและอารมณ์
ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่จะต้องผ่านการทดสอบข้อเขียนและการทดสอบสภาวะจิตใจและอารมณ์ ประกอบด้วย
1) การทดสอบข้อเขียนเพื่อวัดความรู้ ความสามารถในการวิเคราะห์ การใช้ความคิดเชิงเหตุผล และความคิดเชิงสร้างสรรค์ ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การบริหาร การต่างประเทศ ในประเด็นร่วมสมัยของประเทศไทย
2) การทดสอบวัดสภาวะทางจิตใจและอารมณ์
ผู้สมัครจะต้องสอบผ่านการทดสอบตามขั้นตอนที่ 2 แล้ว จึงมีสิทธิ์เข้าทดสอบในขั้นตอนที่ 3

ขั้นตอนที่ 3 : การประเมินความเหมาะสมทางบุคลิกภาพ พฤติกรรม และเชาวน์อารมณ์
ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่จะต้องผ่านการประเมินความเหมาะสมทางบุคลิกภาพ พฤติกรรม เชาวน์อารมณ์ ประกอบด้วย
1) การประเมินพฤติกรรมด้วยวิธี Assessment Center ซึ่งเป็นการประเมินพฤติกรรมของผู้สมัครสอบจากการสังเกตในสภาวการณ์ต่างๆ ที่ผู้สมัครได้พบเจอในสถานที่และเวลาอันจำกัด อาทิเช่น การควบคุมอารมณ์ การแสดงภาวะผู้นำ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น จัดสอบโดย คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) การประเมินบุคลิกภาพด้วยการสอบสัมภาษณ์ โดยการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางสาขาวิชาต่างๆ มาเป็นกรรมการในการสอบ
ผู้สมัครจะต้องสอบผ่านการทดสอบตามขั้นตอนที่ 3 จึงมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
ข้อมูลหลักสูตร

โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ เป็นการพัฒนาผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตามหลักสูตรการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ มีระยะเวลา 22 เดือน ประกอบด้วย การเรียนรู้ภาควิชาการ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหา 5 หมวดวิชา และการเรียนรู้การบริหารจัดการจากการปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำนวน 5 ช่วงการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นหมวดวิชาที่ 6 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1) การเรียนรู้ภาควิชาการ (ระยะเวลา 9 เดือน)
การเรียนรู้ภาควิชาการเป็นการปรับฐานองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่มีความจำเป็นและความสำคัญสำหรับนักบริหารยุคใหม่และนักบริหารในอนาคตที่จะต้องบริหารงานแบบบูรณาการ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสิ่งแวดล้อมมิติต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง รวมทั้งระบบราชการที่ปรับเปลี่ยนบริบทการบริหารงานภาครัฐซึ่งแตกต่างไปจากเดิมมากมาย ตลอดจนเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาข้าราชการให้เป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์การภาครัฐต่อไปในอนาคต ดังนั้น การเรียนรู้ภาควิชาการจึงเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการของหมวดเนื้อหาวิชาดังต่อไปนี้
หมวดวิชาที่ 1 การบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หมวดวิชาที่ 2 บริบทและความท้าทายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
หมวดวิชาที่ 3 นโยบายสาธารณะ: กระบวนการ การวิเคราะห์และพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์
หมวดวิชาที่ 4 การบริหารจัดการภาครัฐและการบริหารการเปลี่ยนแปลง
หมวดวิชาที่ 5 การพัฒนาภาวะผู้นำ ทักษะ และความเป็นข้าราชการที่ดี
2) การเรียนรู้การบริหารจัดการจากการปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (ระยะเวลา 13 เดือน)
การเรียนรู้การบริหารจัดการจากการปฏิบัติราชการในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน คือ หมวดวิชาที่ 6 ซึ่งเป็นการเรียนรู้การบริหารจัดการโดยการปฏิบัติราชการภายใต้การฝึกและสอนงานจากผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย 5 ช่วงการเรียนรู้ ดังนี้
(1) การเรียนรู้จากการปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาค (3 เดือน)
(2) การเรียนรู้ระบบบริหารงานของหน่วยงานกลางในการบริหารนโยบาย (1 เดือน)
(3) การเรียนรู้จากการปฏิบัติราชการในราชการบริหารส่วนกลาง (3 เดือน)
(4) การเรียนรู้จากการปฏิบัติราชการในการฝึกงานในภาคเอกชน (3 เดือน)
(5) การเรียนรู้จากการปฏิบัติราชการในต่างประเทศ (3 เดือน)
วิธีการเรียนรู้ในโครงการฯ
การเรียนรู้ในโครงการฯ เน้นนักบริหารการเปลี่ยนแปลงเป็นศูนย์กลาง (Learner Centered) โดยให้ศึกษาวิเคราะห์กรณีศึกษา (Case Study) เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง (Problem-based Learning) และการเรียนรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติราชการจริงได้ แบบ Applied Learning และ Action Learning โดยมีวิธีการและเครื่องมือการเรียนรู้ในโครงการฯ ประกอบด้วย
1) การเรียนรู้ร่วมกันในห้องเรียน มีวิธีการและเครื่องมือการเรียนรู้ ได้แก่ การบรรยาย การวิเคราะห์กรณีศึกษา (Case study) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) Topic Review กิจกรรมการระดมสมองด้วยการใช้วิธีการ A-I-C (Appreciation/ Influence/ Control) การนำเสนอ (Presentation) การแสดงบทบาทสมมติ (Role play) และการสาธิต (Demonstration) เป็นต้น
2) การเรียนรู้ร่วมกันนอกห้องเรียน มีวิธีการและเครื่องมือการเรียนรู้ ได้แก่ การศึกษาดูงาน (Field Trip) การเรียนรู้ด้วยตนเอง การปฏิบัติราชการ บันทึกการปฏิบัติราชการ (Learning Log) ผลงานวิชาการส่วนบุคคล (Individual Project) และผลงานวิชาการกลุ่ม (Group Project) เป็นต้น
การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ
การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การสอบประเมินผลระหว่างการศึกษาและการสอบประเมินเป็นผู้ผ่านโครงการฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) การสอบประเมินผลระหว่างการศึกษา
การสอบประเมินผลระหว่างการศึกษา เป็นการประเมินผลในช่วงระหว่างการเรียนรู้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ เพื่อประเมินผลการเรียนรู้ พฤติกรรม บุคลิกภาพ วิสัยทัศน์ และทัศนคติต่อการปฏิบัติราชการของนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ได้แก่ การทดสอบข้อเขียน การสอบสัมภาษณ์ การทดสอบกลางหลักสูตร การทดสอบย่อย (Quiz) การประเมินผลการปฏิบัติงานจากงานที่ได้รับมอบหมาย (Assignment) การประเมินผลการปฏิบัติงานจากแบบประเมินขีดสมรรถนะ และการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงาน เป็นต้น
2) การสอบประเมินเป็นผู้ผ่านโครงการฯ
การสอบประเมินเป็นผู้ผ่านโครงการฯ เป็นการทดสอบประเมินผลรวบยอด ภายหลังสิ้นสุดการเรียนรู้ครบทั้งหมดทุกช่วงการเรียนรู้ ประกอบด้วย การสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์เพื่อประเมินการเป็นนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ที่เป็นนักคิดที่มีวิสัยทัศน์ นักพัฒนาและวางแผน และนักปฏิบัติ
เงื่อนไขในการบรรจุ
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาในโครงการฯ จะได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการในตำแหน่งนักพัฒนาระบบราชการ สังกัด สำนักงาน ก.พ.ร. และเมื่อจบหลักสูตรแล้วจะได้รับการบรรจุให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ โดยจะได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งตามวุฒิการศึกษาและผลการประเมินตลอดโครงการฯ
#สำนักงาน ก.พ.ร. #นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ #นปร. #ข้าราชการไทย
ติดต่อสอบถาม โทร. 0 2141 9017 / 0 2356 9999 ต่อ 8928
Website : opdc.thaijobjob.com
www.psedthai.com
Facebook Fanpage : นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
Youtube : https://www.youtube.com/watch?v=3Dz9kR5XGyY
(VDO Motion Graphic นปร. (ก.พ.ร) X KMF Production Edit03)