กรุงเทพฯ / 10 กุมภาพันธ์ 2565 – ท่องไปในโลกใต้ท้องทะเลและสัมผัสความงามและความท้าทายได้แล้ววันนี้ ณ ใจกลางกรุงเทพฯ กับ “TANGLED: ติด – ร่าง – แห” นิทรรศการที่นำเสนอการเดินทางของขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
นิทรรศการ “TANGLED: ติด – ร่าง – แห” จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิความยุติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) และมูลนิธิรักสัตว์ป่า (Love Wildlife Foundation) ด้วยการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลโดยสหภาพยุโรปและกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับองค์กร Norwegian Retailer’s Environment Fund และมูลนิธิ Rufford
ผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้ผลกระทบของขยะพลาสติก เครื่องมือประมง และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวผ่านงานศิลปะและภาพถ่าย พร้อมเปิดประสบการณ์TANGLED: ติด – ร่าง – แห และเรียนรู้วิธีในการลดขยะทะเล ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก
ในช่วงพิธีเปิด ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เน้นย้ำว่า “วิธีที่ใหม่และดีกว่าในการลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิลพลาสติกกำลังมีความสำคัญมากขึ้นและถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เราควรนำไปปรับใช้ เนื่องจากปัจจุบันเกิดการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก ที่ทรัพยากรจะถูกนำมาใช้และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นมากขึ้นกว่าเดิมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างสรรค์ในการส่งสารเหล่านี้ออกไป เพื่อให้ผู้เข้าชมตื่นตาตื่นใจ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้วิถีชีวิตที่ยั่งยืน ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมากที่สหภาพยุโรปได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนิทรรศการนี้ผ่านโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการดำเนินงานไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกและป้องกันขยะพลาสติกไม่ให้ลงสู่มหาสมุทร เราสนับสนุนโครงการโดยร่วมมือกับรัฐบาลเยอรมนีและทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานไทยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราจัดการกับขยะในทะเลและเผชิญกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติกอย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือ เราได้ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน”
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการในการบริหารจัดการพลาสติก ตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ผ่านมา นับได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก”
“อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ไม่ได้หยุดการดำเนินงานอยู่เพียงแค่นี้ แต่จะยังมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” นายปิ่นสักก์ กล่าวเสริม
ผู้เข้าร่วมในพิธีเปิดได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการผ่านงานศิลปะและภาพถ่ายของศิลปินไทยทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ คุณณรงค์ยศ ทองอยู่ คุณนาตาลี ลิ้มวัฒนา คุณสาธิต รักษาศรี และ คุณศิรชัย (ชิน) อรุณรักษ์ดิชัย โดยงานศิลปะเหล่านี้ ได้มีการนำเอาวัสดุจากขยะพลาสติกในทะเลมาประดิษฐ์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาขยะทะเล ขณะที่ภาพถ่ายใต้น้ำมุ่งเน้นการนำเสนอถึงผลกระทบจากเครื่องมือประมงและขยะพลาสติกในระบบนิเวศทางทะเลที่เปราะบาง
“เศษพลาสติกที่เกลื่อนอยู่บนหาดทรายทำให้ผมจินตนาการไปถึงเศษวัสดุอื่นๆ ที่จมและลอยอยู่ในท้องทะเล จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชุดเต่าติดอวน จากเศษซากอวนที่ถูกกู้ขึ้นมาจากใต้ท้องทะเล” ศิลปินร่วมสมัย คุณณรงค์ยศ ทองอยู่ กล่าว
“ผลงานชุดนี้ เกิดจากการทำงานร่วมกันของศิลปินและนักสิ่งแวดล้อมในฐานะที่เราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ช่วยสร้างความตระหนักและการเปลี่ยนแปลงได้” คุณณรงค์ยศ กล่าวเสริม
งานนิทรรศการจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 11 – 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นี้ ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) โดยจะเปิดบริการให้เข้าชมนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) ระหว่างเวลา 10.00 น. – 19.00 น. โดยไม่มีค่าเข้าชมใดๆ ทั้งสิ้น