ดัชนีสันติภาพโลกเผย การเสียชีวิตจากความขัดแย้งแตะระดับสูงสุดของศตวรรษนี้ ส่งผลให้ความสงบสุขของโลกลดลง

วันนี้คือวันเปิดเผยรายงานดัชนีสันติภาพโลก (Global Peace Index) หรือ GPI ฉบับที่ 17 จาก สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace) หรือ IEP

ผลลัพธ์สำคัญ

การเสียชีวิตจากความขัดแย้งทั่วโลกเพิ่มขึ้น 96% สู่ระดับ 238,000 ราย

ข้อมูลใหม่แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งในเอธิโธเปียสูงกว่ายูเครน และพุ่งเกินระดับสูงสุดของโลกในระหว่างสงครามซีเรีย

79 ประเทศประสบกับความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเอธิโอเปีย เมียนมา ยูเครน อิสราเอล และแอฟริกาใต้

ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้น 17% หรือ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 17.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 คิดเป็น 13% ของจีดีพีทั่วโลก

การที่จีนปิดล้อมรอบเกาะไต้หวัน น่าจะส่งผลให้ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกลดลง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเกือบสองเท่าของความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

แม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในยูเครน แต่ 92 ประเทศได้ปรับปรุงค่าใช้จ่ายทางการทหาร และ 110 ประเทศได้ลดจำนวนกำลังพลลง

ความขัดแข้งกลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศมากขึ้น โดยขณะนี้มี 91 ประเทศที่มีส่วนในความขัดแย้งภายนอกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพิ่มขึ้นจาก 58 ประเทศในปี 2551

ผลกระทบจากสงครามยูเครนที่มีต่อสันติภาพ

ยูเครนรายงานความเสียหายเป็นวงกว้างมากที่สุด ร่วงลง 14 อันดับ สู่อันดับที่ 157

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความรุนแรงเพิ่มขึ้น 479% หรือ 4.49 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 64% ของจีดีพียูเครน

แม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่อัตราการคุมขังของรัสเซีย การประท้วงที่รุนแรง ผลกระทบจากการก่อการร้าย และอัตราการฆาตกรรม ล้วนเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการฆาตกรรมต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

65% ของผู้ชายชาวยูเครน อายุระหว่าง 20-24 ปี ได้หลบหนีออกจากประเทศ หรือเสียชีวิตจากความขัดแย้ง

ดัชนีสันติภาพโลก (GPI) ฉบับที่ 17 ซึ่งเป็นมาตรวัดความสงบสุขชั้นนำระดับโลก เผยให้เห็นระดับเฉลี่ยของความสงบสุขทั่วโลกที่ลดลงติดต่อกันเป็นปีที่ 9 โดยมี 84 ประเทศที่มีการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น และ 79 ประเทศเป็นไปในทางที่แย่ลง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประเด็นแง่ลบมีจำนวนมากกว่าประเด็นแง่บวก เนื่องจากความไม่สงบและความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ความขัดแย้งในภูมิภาคและระดับโลกก็ยกระดับความรุนแรงมากขึ้น

ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2551 รอลงมาคือเดนมาร์ก ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และออสเตรีย ในขณะที่อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่มีความสงบสุขต่ำที่สุดติดต่อกัน 6 ปีซ้อน ตามด้วยเยเมน ซีเรีย ซูดานใต้และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แต่เมื่อเน้นไปที่พลวัตความเปลี่ยนแปลงของความขัดแย้งนั้น ทั้งอัฟกานิสถานและซีเรียพบว่ามีการพัฒนาความสงบสุขไปในทางที่ดีขึ้น

สำหรับยูเครน คะแนนโดยรวมลดลง 13% ซึ่งลดลงมากที่สุดในดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2566 และตอนนี้อยู่ที่อันดับที่ 157 ของดัชนี ส่วนลิเบียมีความสงบสูขโดยรวมดีขึ้นมากที่สุด ที่ 7% และเพิ่มขึ้นมา 14 อันดับ สู่อันดับที่ 137

การกระจายตัวของความขัดแย้งทั่วโลกยังคงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) และเอเชียใต้ลดลง แต่ความขัดแย้งในภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ยุโรป และเอเชียแปซิฟิก กลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะที่รัสเซียและภูมิภาคยูเรเซียมีความสงบสุขลดลงในระดับเลวร้ายที่สุดในโลก

ตัวบ่งชี้ดัชนีสันติภาพโลก 10 จาก 23 รายการนั้นเป็นไปในทางดีขึ้น ในขณะที่ 11 รายการแย่ลง และอีก 2 รายการไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตัวบ่งชี้ที่ลดลงมากที่สุดคือความขัดแย้งภายนอกและการเสียชีวิตจากความขัดแย้งภายใน ส่วนตัวบ่งชี้อื่น ๆ ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งพบว่าถดถอยลงไป 59 ประเทศ

ผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลก เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สู่ระดับ 17.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลก หรือประมาณ 2,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน เป็นเพราะค่าใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสงครามยูเครน ความเหลื่อมล้ำในผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความรุนแรงนั้นชัดเจน โดย 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมีค่าเฉลี่ย 34% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) เทียบกับเพียง 3% ของประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

คุณสตีฟ คิลเลเลีย ( Steve Killelea) ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของ IEP กล่าวว่า “ดัชนีสันติภาพโลกปี 2566 เน้นให้เห็นถึงพลวัตที่ขัดแย้งกันของการใช้กำลังทางทหารและความขัดแย้ง ในอีกทางหนึ่ง ประเทศส่วนใหญ่กำลังลดการพึ่งพากองทัพ ในขณะที่ความขัดแย้งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกำลังกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ การเสียชีวิตจากความขัดแย้งนั้นสูงที่สุดนับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 ,000 ราย และจุดประกายให้เกิดกระแสการดำเนินการทั่วโลก

“หลังจากสงครามอัฟกานิสถาน อิรัก และซีเรีย และตอนนี้คือสงครามยูเครน เห็นได้ชัดว่ากองทัพที่มีอำนาจมากที่สุดไม่สามารถเอาชนะประชากรท้องถิ่นที่มีทรัพยากรเพียงพอได้ สงครามส่วนใหญ่ไม่สามารถเอาชนะได้ แถมยังเพิ่มภาระทางเศรษฐกิจด้วย สิ่งนี้ยิ่งเด่นชัดขึ้นไปอีกกับผลกระทบจากการปิดล้อมทางเศรษฐกิจไต้หวัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอย โดยมีผลกระทบมากกว่าวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ถึงสองเท่า”

ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น

79 ประเทศมีอันดับลดลงในด้านความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น โดยการเสียชีวิตที่มาจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้น 96% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยการเสียชีวิตจากความขัดแย้งอยู่ในระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับในศตวรรษนี้ ความขัดแย้งในเอธิโอเปียคร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในปี 2565 ด้วยข้อมูลใหม่ที่พบว่าผู้เสียชีวิตในสนามรบมีมากกว่า 100,000 ราย ในขณะที่ผู้เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บและความอดอยากอยู่ที่ราว 200,000 ราย ความขัดแย้งเหล่านี้ถูกซ่อนจากสื่อเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากข้อจำกัดของสื่อในประเทศและอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถใช้งานได้ เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะเดียวกับที่องค์กรช่วยเหลือของสหรัฐและองค์การสหประชาชาติ (UN) ยุติการส่งมอบอาหาร เพราะพบปัญหาคอร์รัปชันในซัพพลายเชนอาหาร

ในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารานั้น ประเทศมาลีมีอันดับลดลงมากที่สุดโดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งเพิ่มขึ้น 154% ขณะที่การใช้ความรุนแรงกับพลเรือนเพิ่มขึ้น 570% โดยเอสวาตินีเป็นประเทศที่มีอันดับความสงบสุขลดลงมากที่สุดรองลงมาในภูมิภาคนี้

สงครามยูเครนทำให้จำนวนชาวยูเครนที่ต้องกลายเป็นผู้อพยพหรือพลัดถิ่นในประเทศพุ่งขึ้นจากระดับ 1.7% ก่อนเกิดความขัดแย้งสู่ระดับสูงกว่า 30% และมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลล่าสุดเผยให้เห็นว่า 65% ของชายชาวยูเครนที่มีอายุตั้งแต่ 20-24 ปี ได้หนีออกนอกประเทศหรือเสียชีวิตลงจากความขัดแย้ง[1] โดยข้อมูลจากรายงานมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ราว 83,000 ราย

แม้ประชากรของรัสเซียได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากสงคราม แต่ปัจจัยอื่น ๆ ภายในประเทศมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงอัตราโทษจำคุก การใช้ความรุนแรงที่ลดลง และผลกระทบจากการก่อการร้าย ซึ่งอัตราการฆาตกรรมในรัสเซียขณะนี้แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ที่เริ่มมีการวัดค่าดัชนีสันติภาพโลกในปี 2551 หากไม่ใช่เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยูเครน รัสเซียคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการยกระดับด้านสันติภาพครั้งใหญ่ที่สุดในดัชนีประจำปีนี้

ทั้งนี้ จำนวนผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นในประเทศยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมี 15 ประเทศที่ประชากรมากกว่า 5% ของประเทศเป็นผู้พลัดถิ่น

การปิดล้อมไต้หวัน

แม้ในตอนนี้ จีนจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งใด ๆ ภายนอก แต่ก็ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในน่านน้ำทะเลจีนใต้และได้ดำเนินปฏิบัติการทางอากาศที่เข้มข้นใกล้กับไต้หวัน ดัชนีสันติภาพโลกบ่งชี้ว่า หากจีนปิดล้อมไต้หวันจริงเมื่อไร ผลผลิตทางเศรษฐกิจโลกก็อาจลดลงถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลกภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีแรกที่เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นเท่านั้น

การสูญเสียจากเหตุการณ์ข้างต้นเกือบ 60% จะเกิดขึ้นภายในจีนและไต้หวัน โดยเศรษฐกิจจีนจะหดตัวลงราว 7% โดยประมาณ ส่วนไต้หวันจะหดตัวลงเกือบ 40% โดยคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด 5 รายของจีนเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีแนวทางการทหารเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี และออสเตรเลีย

ยุทธาภิวัฒน์และเทคโนโลยี

แม้ความขัดแย้งจะขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็มีประเทศต่าง ๆ มากขึ้นที่กระจายงบประมาณทางการทหารไปใช้กับความสำคัญลำดับอื่น ๆ ของประเทศ อาทิ การรักษาพยาบาล การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และการฟื้นตัวจากโรคระบาด ทั้งนี้ การพัฒนาด้านการทหารได้แพร่หลายออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายทางการทหารได้เพิ่มขึ้น 17% นับตั้งแต่ปี 2551 โดยการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดมาจากจีน (1.80 แสนล้านดอลลาร์) สหรัฐ (7 หมื่นล้านดอลลาร์) และอินเดีย (4 หมื่นล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ การใช้งานโดรนท่ามกลางความขัดแย้งยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งรวมถึงในยูเครน เอธิโอเปีย และเมียนมา โดยจำนวนการโจมตีด้วยโดรนเพิ่มขึ้นราว 41% ในปี 2565 โดยที่จำนวนกลุ่มต่าง ๆ ที่ใช้โดรนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 24%

ไฮไลท์ของภูมิภาค

การพัฒนาที่มากที่สุดเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) และอเมริกาเหนือ โดยการพัฒนาของอเมริกาเหนือส่วนใหญ่มาจากแคนาดา ขณะที่สหรัฐกลับลดลงเล็กน้อยจากอัตราการฆาตกรรมที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่าภูมิภาคยุโรปตะวันตกถึง 6 เท่า

นับตั้งแต่ปี 2559 ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีการพัฒนาด้านสันติภาพมากที่สุดในระดับโลก อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคดังกล่าวยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขน้อยที่สุด โดยศูนย์กลางของการก่อการร้ายได้เปลี่ยนจากภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือไปยังภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบซาเฮล

อเมริกากลาง คาบสมุทรแคริบเบียน และอเมริกาใต้ มีอันดับลดลงค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการปราบปราม การใช้ความรุนแรง และความขัดแย้ง

ชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกมีดัชนีความสงบสุขมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เริ่มจัดทำรายงานในปี 2551 โดยประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคมีค่าเฉลี่ยที่ดีขึ้นราว 5% ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่ชายฝั่งระหว่างโมร็อกโกกับกานาไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในปี 2565 ตรงกันข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านในแถบซาเฮล

ยุโรปยังคงครองตำแหน่งภูมิภาคที่สงบสุขที่สุดในโลก แม้จะมีอันดับลดลงในแง่การใช้จ่ายด้านการทหารและความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านอันเป็นผลจากสงครามในยูเครน ทั้งนี้ ยุโรปยังคงเป็นภูมิภาคของ 7 ประเทศจาก 10 ประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยที่ระดับความรุนแรง การประท้วง และการจลาจลยังคงสูง ขณะที่อีก 3 ประเทศที่เหลืออยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดรายงานดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2566 ได้ที่เว็บไซต์ visionofhumanity.org และ economicsandpeace.org ส่วนรายงานฉบับเต็ม บทความ และแผนที่เว็บเชิงปฏิสัมพันธ์ พร้อมให้บริการแล้วที่เว็บไซต์ visionofhumanity.org

ทวิตเตอร์: @globpeaceindex
เฟซบุ๊ก: facebook.com/globalpeaceindex
อินสตาแกรม: instagram.com/globalpeaceindex

เกี่ยวกับดัชนีสันติภาพโลก

รายงานดัชนีสันติภาพโลก (GPI) จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในปัจจุบันเกี่ยวกับความสงบสุข คุณค่าทางเศรษฐกิจ แนวโน้ม และการพัฒนาสังคมที่สงบสุข รายงานนี้ครอบคลุมประชากรโลก 99.7% และใช้ปัจจัยชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ประการจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงเพื่อจัดทำดัชนี โดยปัจจัยชี้วัดเหล่านี้ถูกแบ่งเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ความปลอดภัยและความมั่นคง และการขยายอิทธิพลทางทหาร

เกี่ยวกับสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ

สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองอิสระระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการเปลี่ยนมุมมองที่โลกมีต่อสันติภาพ ในฐานะมาตรการเชิงบวกที่เป็นรูปธรรมและทำได้จริงเพื่อเสริมสร้างความก้าวหน้าและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ทางสถาบันมีสำนักงานในซิดนีย์ บรัสเซลส์ นิวยอร์ก เฮก เม็กซิโกซิตี้ และฮาราเร

[1] ที่มา: รายงานแนวโน้มประชากรโลกโดยสหประชาชาติ (UN World Population Prospects)

โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/792052/IEP_Logo.jpg