จีนพลิกผืนดินแห้งแล้งเป็นป่าที่สร้างโดยมนุษย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อหลายสิบปีที่แล้วคงไม่มีใครคาดคิดว่า “ไซหานปา” พื้นที่แห้งแล้งในมณฑลเหอเป่ยทางภาคเหนือของจีน จะได้รับการพลิกฟื้นจนกลายเป็นป่าที่สร้างโดยมนุษย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

จีนทำได้สำเร็จ

ปัจจุบัน ไซหานปามีพื้นที่ป่าไม้ครอบคลุม 80% และเป็นแหล่งอนุรักษ์น้ำสะอาดกว่า 137 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นับเป็นความสำเร็จที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยกย่องว่า “ยอดเยี่ยม”

“นี่คือแม่แบบของอารยธรรมเชิงนิเวศระดับโลก” เขากล่าวระหว่างเดินทางเยือนมณฑลเหอเป่ยเป็นเวลาสองวัน

ในระหว่างการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ นายสี จิ้นผิง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการและปกป้องพื้นที่ปลูกป่า รวมถึงความพยายามของมณฑลเหอเป่ยในการอนุรักษ์ภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ พื้นที่เพาะปลูก ทะเลสาบ และทุ่งหญ้า ไปจนถึงการยับยั้งการแปรสภาพเป็นทะเลทราย

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและการสร้างความก้าวหน้าเชิงนิเวศ พร้อมกับกระตุ้นให้สานต่อ “จิตวิญญาณแห่งไซหานปา” ในหมู่เจ้าหน้าที่ป่าไม้หลายชั่วอายุคนที่ยึดมั่นในหน้าที่ของตนเอง ทำงานอย่างหนัก และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายสี จิ้นผิง ขอให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ปลูกป่าไซหานปาทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศ และเดินหน้าทำงานหนักเพื่อสร้างความสำเร็จใหม่ ๆ ต่อไป

สี จิ้นผิง สนับสนุนให้ผู้สูงอายุยังอยู่ในตลาดแรงงาน

จำนวนแรงงานสูงอายุในจีนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ นายสี จิ้นผิง จึงสนับสนุนให้ผู้สูงอายุยังคงอยู่ในตลาดแรงงานอย่างแข็งขัน ในขณะที่เขาตรวจเยี่ยมศูนย์บริการชุมชนปินเหอ

นายสี จิ้นผิง แนะนำให้ผู้สูงอายุ “younger senior” มีส่วนร่วมในการทำงานต่าง ๆ เช่น งานอาสาสมัครในชุมชน เป็นต้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า ปัจจุบันจีนมีผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปราว 264 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 18.7% ของประชากรทั้งหมด และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยอาจเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลก

จีนระบุอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) ว่าจะขยายอายุเกษียณ “แบบค่อยเป็นค่อยไป ยืดหยุ่น และทำให้เห็นความแตกต่าง” เพื่อปรับให้เข้ากับ “New Normal”

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายสี จิ้นผิง ยังได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการบรรลุเป้าหมายสำคัญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปีนี้

เขาย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างสมดุลระหว่างการป้องกันและควบคุมโควิด-19 กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และระหว่างการพัฒนากับการรักษาความมั่นคงปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูง ตลอดจนบรรลุภารกิจและเป้าหมายสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมในปีนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของแผนพัฒนาระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14

นายสี จิ้นผิง ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานคณะกรรมาธิการทหารกลาง กล่าวว่า ต้องมีการนำหลักปรัชญาการพัฒนาใหม่มาใช้อย่างซื่อสัตย์และรอบด้าน

สี จิ้นผิง ส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม

ณ พระราชวังฤดูร้อนเฉิงเต๋อและหมู่วัดโดยรอบ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก นายสี จิ้นผิง ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความพยายามในการอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่านี้

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้มีความหมายทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยสะท้อนถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ การปรับตัวของศาสนาและสังคม การอนุรักษ์และพัฒนามรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

นอกจากนี้ เขายังเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นในวัฒนธรรมและความสามัคคีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ

หลังจากนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เยี่ยมชมวัดผู่หนิง วัดพุทธที่มีชื่อเสียงซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง รวมถึงพิพิธภัณฑ์เฉิงเต๋อ

สี จิ้นผิง ผลักดัน “การคืนชีวิตชีวาให้กับชนบท” สู่ “การคืนชีวิตชีวาให้กับอุตสาหกรรม”

จีนมองว่าการคืนชีวิตชีวาให้กับชนบทเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่มาโดยตลอด และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ก็ผลักดันแนวคิดนี้ไปอีกระดับ ด้วยการเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “การคืนชีวิตชีวาให้กับอุตสาหกรรม”

นายสี จิ้นผิง ได้เยี่ยมเยือนหมู่บ้านต้ากุยโข่ว ซึ่งปัจจุบันปลูกสตรอว์เบอร์รี องุ่น และเชอร์รี หลังจากที่ลองผิดลองถูกกับการปลูกพืชชนิดอื่น

ชาวบ้านเคยปลูกข้าว ข้าวโพด และผัก แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น การขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่ำ ชาวบ้านจึงไม่สามารถทำเงินได้และหันมาปลูกผลไม้แทน

ปัจจุบัน การปลูกสตรอว์เบอร์รีกลายเป็นธุรกิจหลักของชาวบ้านราว 1,700 คน โดยแต่ละครัวเรือนมีรายได้ราว 15,000 ดอลลาร์ต่อปี

นายสี จิ้นผิง สนับสนุนให้หมู่บ้านต่าง ๆ ใช้วิธีการที่เหมาะสมกับท้องถิ่น และเฟ้นหาทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อสร้างจุดเด่น พร้อมกับเรียกร้องให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการสาธารณะในชนบท