จีนเผยแนวทาง “ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมด” ตั้งแต่คนทั่วไปจนถึงผู้บัญญัติกฎหมาย

แนวคิดประชาธิปไตยของจีนมีความแตกต่างจากโลกตะวันตก โดยระบบการเมืองจีนให้ความสำคัญกับการสร้างฉันทามติของคนส่วนใหญ่มากกว่าการต่อรองอย่างยืดเยื้อก่อนที่จะตัดสินใจแบบโลกตะวันตก จีนใช้หลักการประชาธิปไตยตามแนวทางที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกว่า “ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมด” (whole-process people’s democracy) ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการนำเสนอครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้ว ในระหว่างที่ผู้นำจีนเดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ราชการในนครเซี่ยงไฮ้ ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมด อ้างอิงระบบสภาประชาชนที่เปิดโอกาสให้ชาวจีนมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองทุกระดับอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย การปรึกษาหารือทางการเมือง การตัดสินใจ และการกำกับดูแล เรื่องราวของ หลิว หลี่ สมาชิกสภานิติบัญญัติ จะช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นภาพของประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมด จากพนักงานนวดฝ่าเท้าสู่สมาชิกสภานิติบัญญัติจีน หลิว หลี่ คือประชาชนคนธรรมดาที่ไต่เต้าสู่ตำแหน่งผู้แทนในสภาประชาชนแห่งชาติชุดที่ 13 ซึ่งเป็นสถาบันนิติบัญญัติที่มีอำนาจสูงสุดของจีน เธอเกิดในครอบครัวยากจนในอำเภอหยิงชาง มณฑลอันฮุย ทางภาคตะวันออกของจีน เธอต้องออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 14 ปี เพื่อทำงานหาเงินให้น้อง ๆ อีก 4 คนได้เรียนหนังสือ หลังจากนั้นเธอออกจากบ้านตัวเปล่าและเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ทางภาคกลางของจีน เพื่อทำงานเป็นบริกรและพี่เลี้ยงเด็ก ก่อนที่จะได้เป็นเด็กฝึกงานของร้านนวดฝ่าเท้าในเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคตะวันออกของจีน ภูมิหลังที่ยากจนไม่ได้ทำให้เธอไร้ความโอบอ้อมอารี เธอไม่ต้องการให้เด็ก ๆ ต้องเลิกเรียนกลางคันเหมือนเธอ เธอจึงให้การสนับสนุนนักเรียนกว่า 100 คน ในช่วงปี 2549-2553 […]