ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 320.7 ล้านไร่ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ที่ดินเอกชนและที่ดินของรัฐ ซึ่งที่ดินของรัฐมีหลายประเภท อาทิ ป่าถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับที่ดินของรัฐที่อยู่ในการบริหารจัดการของกรมที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน คือ ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามสภาพธรรมชาติ มีการสงวนหวงห้ามตามกฎหมายการใช้ประโยชน์ร่วมกันของราษฎร หรือโดยการอุทิศให้ ซึ่งเป็นที่มาของการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เป็นเอกสารที่ราชการจัดทำขึ้นเพื่อบอกแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน ทำให้ประชาชนที่มีที่ดินติดกับเขตที่ดินของรัฐรู้ว่าเขตที่ดินของตนอยู่ที่ใด เป็นการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ และเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปัจจุบันหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) มีจำนวนทั้งสิ้น 162,358 แปลง ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผยว่า กรมที่ดินตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตอบสนองตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชน สามารถสืบค้น เรียกดู ตำแหน่งของรูปแปลงที่ดินของรัฐ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การค้นหาข้อมูลแหล่งน้ำในการทำโครงการแก้มลิง หรือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด […]