Samsung Pharm Co., Ltd. นำเสนอผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของยาภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน “RIAVAX(TM) (GV1001)” ซึ่งจัดทำขึ้นในเกาหลีใต้ ณ การประชุม American Society of Clinical Oncology (ASCO) 2021
การประชุมประจำปี ASCO ซึ่งครบรอบ 57 ปีในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 มิถุนายนผ่านทางออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยากว่า 4,500 คนเข้าร่วมทุกปี เพื่อแบ่งปันและหารือเกี่ยวกับผลการวิจัยทางคลินิก รวมถึงการวิจัยและพัฒนาขั้นสูงด้านมะเร็งวิทยา
“RIAVAX(TM) (GV1001)” เป็นยาเปปไทด์ที่ได้มาจากเอนไซม์เทโลเมอเรสของมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโน 16 ชนิด และได้รับการพัฒนาขึ้นในฐานะยาภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน โดยจะกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันให้โจมตีเซลล์มะเร็ง และเป็นที่ทราบกันดีว่าสามารถยืดอายุผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนที่มีระดับอีโอแทกซินในเลือดสูงเมื่อให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด Gemcitabine/Capecitabine ที่ใช้กันในปัจจุบัน
การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของยา RIAVAX(TM) จัดทำขึ้นเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพเมื่อให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด Gemcitabine/Capecitabine ในผู้ป่วย 148 รายที่เป็นโรคมะเร็งตับอ่อนระยะลุกลามเฉพาะที่และระยะแพร่กระจาย ในโรงพยาบาล 16 แห่งในประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงโรงพยาบาล Severance Hospital
ผลการทดลองทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า อัตราการรอดชีวิตโดยรวม (OS) เฉลี่ยอยู่ที่ 11.3 เดือนในกลุ่มที่ได้รับยา เทียบกับ 7.5 เดือนในกลุ่มควบคุม โดยถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.021) ส่วนระยะเวลาที่โรคสงบ (TTP) ก็มีนัยสำคัญทางสถิติด้วยระยะเวลา 7.3 เดือนในกลุ่มที่ได้รับยา เทียบกับ 4.5 เดือนในกลุ่มควบคุม (p=0.021) นอกจากนั้นยังไม่มีการรายงานปัญหาด้านความปลอดภัยที่เฉพาะเจาะจง ผลลัพธ์เหล่านี้บ่งชี้ว่า RIAVAX(TM) ควรได้รับการพิจารณาให้เป็นตัวเลือกการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนระยะลุกลามเฉพาะที่และระยะแพร่กระจายที่มีระดับอีโอแทกซินในเลือดสูง
Samsung Pharm ได้รับสิทธิในประเทศสำหรับยา RIAVAX(TM) จากบริษัทในเครืออย่าง GemVax & KAEL Co., Ltd. เมื่อปี 2014 หลังจากที่ GemVax & KAEL ทำการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 สำหรับยา RIAVAX(TM) (“TeloVac”) ในสหราชอาณาจักรระหว่างปี 2007-2011 ในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนระยะลุกลามเฉพาะที่และระยะแพร่กระจายจำนวน 1,062 ราย โดยผลการทดลอง TeloVac ได้รับการนำเสนอในงาน ASCO 2013 ตามด้วยการนำเสนอผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างอีโอแทกซินระดับสูงกับอัตราการรอดชีวิตที่เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนที่ได้รับยา GV1001 ในงาน ASCO 2014