“INNOvation บ้า-กล้า-คิด” มอบรางวัล สนับสนุนไอเดียคนรุ่นใหม่
แก้ปัญหาสังคมด้วยนวัตกรรมสร้างสรรค์
15 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา, กรุงเทพมหานคร – กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร ประเทศญี่ปุ่น (MIC) ผนึกกำลังพันธมิตร จัดงานมอบรางวัลโครงการ “INNOvation บ้า-กล้า-คิด” โครงการที่เปิดรับและสนับสนุนคนไทยผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ที่มาพร้อมความมุ่งมั่น รักความท้าทาย มีความต้องการพัฒนา เปลี่ยนแปลง และต่อยอดไอเดียทางด้านเทคโนโลยีให้กลายเป็นจริง เพื่อสร้างมูลค่าและยกระดับแวดวง ICT ให้ก้าวไปอีกขั้น โดยมอบรางวัลในสาขา Disruptive Challenge 1 รางวัล และ Generation Award รวม 30 รางวัล จากผู้สนับสนุน 19 องค์กรในประเทศไทย รางวัลมูลค่ารวมกว่า 1,800,00 บาท เพื่อมอบให้กับผู้ที่มีผลงานและความคิดแปลกใหม่ สามารถนำประเด็นปัญหาที่พบในชีวิตประจำวันมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีล้ำสมัยนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาสังคมได้ อันนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมั่นคงในยุคสมัยแห่งวิถีชีวิตแบบใหม่
Mr. Kazuya Nashida เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ตัวแทนของกระทรวง MIC กล่าวว่า “INNOvation เป็นโครงการที่เริ่มด้วยรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปนำ ICT มาทำให้เกิดประโยชน์ คิดแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยไม่กลัวความผิดพลาด โดยเฉพาะปัจจุบันที่ทั่วโลกกำลังประสบกับปัญหา โควิด-19 ICT จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็น การใช้ Quantum Computing ในการพัฒนายา หรือการนำ Big Data มาคำนวณสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทางกระทรวง MIC และ สถานทูต ขอบคุณทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาของไทยที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้ และคิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีสำหรับคนไทยที่มีไอเดียสร้างสรรค์ แปลกใหม่ ได้แสดงออกทางความคิดโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของค่านิยมต่างๆ และต้องการสานต่อโอกาสนี้ต่อไปในอนาคต” Mr. Kazuya Nashida กล่าว
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า “ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีนวัตกรรม ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งนี้ส่งผลให้มนุษย์มองเห็นช่องทางในการก้าวข้ามขอบเขตในอดีตและเปิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของดีป้าคือการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน รวมถึงการสร้างกำลังคนดิจิทัลในสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศสู่ยุคดิจิทัล โดยโครงการ INNOvation บ้า-กล้า-คิด จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการก่อให้เกิดความร่วมมือ ในการพัฒนา อำนวยประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนแสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมาอย่างไม่จำกัด ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งแก่ประเทศไทยที่ประชาชนสามารถแสดงศักยภาพและความสามารถด้านเทคโนโลยีผ่านการร่วมส่งไอเดียด้านเทคโนโลยีเข้าประกวดในโครงการนี้ เกิดเป็นอีกแรงผลักดันและขับเคลื่อนกำลังคนภายในประเทศให้สามารถก้าวหน้าสู่สังคมดิจิทัล จนเป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าประเทศอย่างยั่งยืน โดยในนามของดีป้า และตัวแทนของทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้” ผอ.ใหญ่ ดีป้า กล่าว
โครงการ INNOvation บ้า-กล้า-คิด จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ 2563 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ โดยประสบความสำเร็จและได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ และในปีนี้ได้สานต่อความสำเร็จของโครงการฯ ด้วยการเปิดรับผลงานจากทั่วโลกทั้ง แบบเดี่ยวและกลุ่ม โดยไม่จำกัดจำนวนสมาชิกในกลุ่มและจำนวนไอเดีย แบ่งการรับสมัครไอเดียออกเป็น 2 สาขา คือ Disruptive Challenge และ Generation Award ซึ่งปีนี้มีผู้ส่งไอเดียเข้าร่วมประกวดกว่า 22,164 ไอเดีย แบ่งเป็นสาขา Disruptive Challenge จำนวน 1,895 ไอเดีย และสาขา Generation Award จำนวน 20,269 ไอเดีย โดยในประเทศไทยมีผู้ส่งไอเดียจำนวนทั้งสิ้น 1,739 ไอเดีย แบ่งเป็นสาขา Disruptive Challenge จำนวน 414 ไอเดีย และสาขา Generation Award จำนวน 1,325 ไอเดีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีที่คนไทยให้ความสนใจและส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหลายเท่าตัว
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ “INNOvation บ้า-กล้า-คิด” ในสาขา Disruptive Challenge ได้แก่ นายเมธาสิทธิ์ เกียรติชัยภา จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จากไอเดีย 3 Meds Walker ซึ่งหลังจากนี้จะได้รับเงินสนับสนุนในการพัฒนาไอเดียให้เป็นจริงเป็นจำนวนเงินกว่า 3,000,000 เยน ในระยะเวลา 1 ปี และสำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลในสาขา Generation Award อาทิ บ้านพักคนชราแบบ Full Service โดยนางสาวชนัดดา พิมเสน, สายจูงสุนัขไร้สาย โดยนางสาวพิมพ์ขวัญ จิระประวัติตระกูล, เครื่องดูดกลิ่นเพื่อนำไปแต่งกลิ่นอาหาร โดยนายอริญชย์ สุวรรณ, เครื่องจำลองการนอนสำหรับผู้ที่มีเวลานอนน้อย โดยนางสาวพัชรวดี รัตนวงค์นางสาวศุภนิดา บุญเต็ม และนางวิมลพร เชื้อดวงผุย, Sticker เก็บข้อมูลอายุอาหาร วัตถุดิบ แบบ digital โดยนายวรเชษฐ์ อุดมวิเศษยิ่ง และ SAMED (Staff And Miracle Eye Detector) โดยนางสาวลักษิกา วงศ์ชื่นสุนทร, นางสาวนุช วุฒิอังสโวทัย, นางภคนันท์ สิริพานิชกูล และนางสาวแพรวา ประพัฒนมงคล
งานนี้ได้รับการสนับสนุนจาก 19 องค์กรในประเทศไทย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดในแต่ละสาขา ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA, บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน), เครือเบทาโกร, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน), บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน), บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM), บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จํากัด (มหาชน), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไทยลอตเต้ จำกัด, บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) และศูนย์สร้างนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ TusPark WHA โดยขอแสดงความยินดีกับทุกไอเดียจากเจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลทุกท่าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกความคิดที่ได้รับการสร้างสรรค์มาจากความตั้งใจนี้ จะได้รับการพัฒนาและต่อยอดทางธุรกิจต่อไป พร้อมสามารถนำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมของประเทศไทยในอนาคตได้
ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดตามรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมดในโครงการ INNOvation บ้า-กล้า-คิด ได้ทางเว็บไซต์ https://www.inno.go.jp/th/