Global Maritime Forum ชี้ ผู้นำในอุตสาหกรรมเรียกร้องให้ที่ประชุม COP26 ประกาศพันธกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายในปี 2593

ได้มีการส่งมอบแถลงการณ์ Call to Action for Shipping Decarbonization ซึ่งเรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกดำเนินการเพื่อทำให้การขนส่งสินค้าสอดรับกับเป้าหมายการลดอุณหภูมิของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ให้แก่สหราชอาณาจักรซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม COP26 ในการประชุมสุดยอดประจำปีว่าด้วยทะเลโลก (Global Maritime Forum Annual Summit) ณ กรุงลอนดอน

แถลงการณ์ Call to Action for Shipping Decarbonization พัฒนาขึ้นโดยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ก่อตั้งโดย Getting to Zero Coalition ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง Global Maritime Forum, World Economic Forum และ Friends of Ocean Action แถลงการณ์ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยผู้นำในอุตสาหกรรมและองค์กรกว่า 200 รายซึ่งเป็นตัวแทนจากทั้งห่วงโซ่คุณค่าทางทะเล โดยได้ส่งสารสำคัญอย่างชัดเจนว่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้เหลือศูนย์เป็นเรื่องที่เร่งด่วนและขณะเดียวกันสามารถทำให้สำเร็จได้ แถลงการณ์ดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมขนส่งสินค้า เพื่อดำเนินนโยบายและส่งเสริมการลงทุนที่จำเป็นสำหรับการสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานโลกและระบบเศรษฐกิจโลก

“ด้วยแถลงการณ์ Call to Action ผู้นำจากทั้งห่วงโซ่คุณค่าทางทะเลได้ส่งสัญญาณอันแน่วแน่ให้แก่รัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมในเมืองกลาสโกว์สัปดาห์หน้านี้ ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยกระดับเป้าหมายและมุ่งดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้เหลือศูนย์ให้ได้ภายในปี 2593 ถ้ารัฐบาลต้องการเป็นฮีโร่ผู้กอบกู้ปัญหาสภาพภูมิอากาศในงาน COP26 พวกเขาจะต้องเป็นฮีโร่ผู้กอบกู้ปัญหาสภาพภูมิอากาศกับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization) ด้วย เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องมีการดำเนินการเพื่อให้ระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเป็นธรรม เสมอภาค และสอดรับกับข้อตกลงปารีส” Johannah Christensen ซีอีโอ Global Maritime Forum กล่าว

แถลงการณ์ Call to Action แสดงให้เห็นว่ามีการสนับสนุนเป็นวงกว้างในอุตสาหกรรม สำหรับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในการขนส่งสินค้า และแสดงถึงการลงมือทำและการยึดมั่นที่เกิดขึ้นแล้วเป็นจำนวนมากโดยบริษัทต่าง ๆ พร้อมทั้งยังเป็นการระบุอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอุตสาหกรรมนี้ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2593

ผู้ลงนามในแถลงการณ์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทำสิ่งต่อไปนี้

– มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายในปี 2593

– สนับสนุนโครงการระดับอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ในการขนส่งสินค้า โดยเป็นการสนับสนุนด้วยการดำเนินการระดับชาติ

– ดำเนินมาตรการเชิงนโยบายที่จะทำให้การขนส่งสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เป็นทางเลือกหลักภายในปี 2573

การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติครั้งที่ 26 (Climate Change Conference of the Parties หรือ COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคมถึง 12 พฤศจิกายน 2564 จัดโดยสหราชอาณาจักรร่วมกับอิตาลี การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสที่ฝ่ายต่าง ๆ จะมาร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อเร่งให้เกิดการดำเนินการ สู่การบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสและกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

” COP26 เป็นโอกาสพิเศษที่จะเร่งให้เกิดความพยายามระดับโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกอุตสาหกรรมต้องเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่การบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และทำให้เป้าหมายการลดอุณหภูมิของความตกลงปารีสเป็นไปได้จริง ในฐานะประธาน COP ผมมีความยินดีที่ได้รับเอาแถลงการณ์ Call to Action for Shipping Decarbonization และสารที่ชัดเจนว่าผู้นำจากทั้งอุตสาหกรรมทางทะเลพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593″ Alok Sharma ประธาน COP26 กล่าว

เกี่ยวกับแถลงการณ์ Call to Action for Shipping Decarbonization

ผู้นำในอุตสาหกรรมและองค์กรกว่า 200 รายจากทั้งห่วงโซ่คุณค่าทางทะเลได้ลงนามในแถลงการณ์ Call to Action for Shipping Decarbonization ซึ่งครอบคลุมการขนส่งสินค้า สินค้าบรรทุก พลังงาน การเงิน ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ลงนามประกอบด้วยบริษัทรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการค้าระดับโลก อย่างเช่น Anglo American, A.P. Moller- Maersk, BHP, Bollore Logistics, BP, BW LPG, Cargill Ocean Transportation, Carnival Corporation, Citi, Daewoo Shipbuilding & Marine Engineering, ENGIE, Euronav, Fortescue Metals Group, GasLog, Hapag-Lloyd, Iberdrola, Lloyd’s Register, Mitsui O.S.K. Lines, MSC Mediterranean Shipping Company, Ocean Network Express, Olympic Shipping and Management, ?rsted, องค์การบริหารคลองปานามา (Panama Canal Authority), ท่าเรือรอตเตอร์ดัม (Port of Rotterdam), PSA International, Rio Tinto, Shell, Swire Shipping, Trafigura, Ultranav, Unilever, V.Group, Volvo และ Yara

แถลงการณ์ Call to Action for Shipping Decarbonization ริเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 พร้อมกับการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับแถลงการณ์ Call to Action for Shipping Decarbonization และดูรายชื่อผู้ลงนามทั้งหมดได้ที่นี่

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยผู้ลงนามในแถลงการณ์ Call to Action for Shipping Decarbonization ในการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบการขนส่งสินค้าได้ที่นี่

ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมสุดยอด Global Maritime Forum Summit ณ กรุงลอนดอนระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2564 ได้ที่นี่

เกี่ยวกับ Getting to Zero Coalition

Getting to Zero Coalition เป็นแพลตฟอร์มที่ผลักดันโดยอุตสาหกรรมเพื่อการทำงานร่วมกัน โดยได้นำผู้ที่เกี่ยวข้องระดับชั้นนำในแวดวงการเดินเรือและห่วงโซ่คุณค่าด้านพลังงาน ร่วมด้วยภาคการเงินและหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเรือที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ให้เกิดขึ้นจริงในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2573 ทั้งนี้ Getting to Zero Coalition เป็นความร่วมมือระหว่าง Global Maritime Forum, Friends of Ocean Action และ World Economic Forum

เกี่ยวกับ Friends of Ocean Action

Friends of Ocean Action เป็นกลุ่มผู้นำระดับโลกกว่า 55 คน ที่มาจากภาคธุรกิจ องค์กรระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม วิทยาศาสตร์ และแวดวงวิชาการ ซึ่งดำเนินการติดตามการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วในวงกว้าง เพื่อรับมือความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดในมหาสมุทร กลุ่มความร่วมมือนี้ริเริ่มโดย World Economic Forum ร่วมกับสถาบัน World Resources Institute

เกี่ยวกับ World Economic Forum

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน WEF มีส่วนร่วมกับผู้นำทางการเมือง ธุรกิจ วัฒนธรรม และผู้นำในด้านอื่น ๆ ของสังคมเพื่อกำหนดวาระระดับโลก ระดับภูมิภาค และในอุตสาหกรรม องค์กรก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2514 โดยเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ WEF มีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และไม่ผูกพันกับผลประโยชน์พิเศษใด ๆ

เกี่ยวกับ Global Maritime Forum

Global Maritime Forum เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีความมุ่งมั่นที่จะกำหนดอนาคตการค้าและการขนส่งทางทะเลทั่วโลก เพื่อยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ในระยะยาวอย่างยั่งยืน