GIZ และ UNEP ส่งเสริมการบริโภครูปแบบใหม่ผ่านข้อมูลด้านความยั่งยืน

(จากซ้าย) ดร.อุล์ฟ แย็กเคล หัวหน้าแผนกการบริโภคอย่างยั่งยืนและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) และนางสาวปรีญาพร สุรรณเกษ รองอธิบดีกรมควมคุมมลพิษ

กรุงเทพฯ, 30 พฤศจิกายน 2564 – องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกับเครือข่าย One Planet Network ภายใต้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับภูมิภาคทางออนไลน์ในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคด้วยข้อมูลด้านความยั่งยืน” โดยมีผู้กำหนดนโยบาย องค์กรธุรกิจ หน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องจากทวีปยุโรปและเอเชียมาร่วมแลกเปลี่ยนนโยบาย เครื่องมือและรูปแบบทางธุรกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน

การบริโภคอย่างยั่งยืนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการส่งเสริมรูปแบบการบริโภคที่ยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องอาศัยแนวทางการบูรณาการองค์ความรู้และข้อมูลเชิงวิชาการจากหลากหลายสาขา ตลอดจนแนวทางความร่วมมือในระดับโลก ทั้งนี้ ประเด็นเร่งด่วนในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ได้ส่งผลให้การปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคและการใช้ทรัพยากรต่างๆ กลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาแผนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโควิด-19 ที่คำนึงถึงการบริโภคอย่างยั่งยืนมากขึ้น

นางสาวปรีญาพร สุรรณเกษ รองอธิบดีกรมควมคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานว่า “รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (SCP) โดยได้จัดทำนโยบาย รวมถึงกำหนดมาตรการและกลไกต่างๆ เพื่อพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ (GPP) ซึ่งจากการดำเนินการในระยะที่สองสามารถประเมินมูลค่าของผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับราว 76,000 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 11 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างแผนปฏิบัติการการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ ฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 – 2570 ที่มุ่งเน้นการเพิ่มสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตลาดและระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การส่งเสริมการผลิตและการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเพื่อสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการดังกล่าว”

“ประเทศไทยมีความยินดีที่ได้มีส่วนสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในวันนี้ และขอขอบคุณรัฐบาลเยอรมนีที่ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินในการดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และภูฎาน) หรือ SCP Outreach อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด” นางสาวปรีญาพร กล่าวเพิ่มเติม

ดร.อุล์ฟ แย็กเคล หัวหน้าแผนกการบริโภคอย่างยั่งยืนและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) กล่าวในพิธีเปิดและการปาฐกถาในหัวข้อนโยบายเกี่ยวกับข้อมูลของผู้บริโภคในประเทศเยอรมนีและยุโรปว่า “เป้าหมายของเรา คือ การที่ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทน นำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซ่อมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รีไซเคิลได้และให้ประสิทธิภาพทางพลังงานมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลเยอรมนีจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกัน

นานาประเทศในการพัฒนานโยบายและเครื่องมือต่างๆ ให้สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้ ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เราได้ดำเนินงานร่วมกับประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียในการบูรณาการหลักเกณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาให้การรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม การสร้างตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคอย่างยั่งยืน”

มร. ไค ฮอฟมันน์ ผู้อำนวยการโครงการด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน จาก GIZ กล่าวว่า “ผู้บริโภคทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศ รวมถึงบริษัทและองค์กรต่างๆ ก็กำลังดำเนินงานเพื่อสนองตอบต่อกระแสด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น อิเกีย ประเทศไทย เพิ่งเปิดตัว Circular Shop ซึ่งเป็นบริการรับซื้อสินค้าคืน (Buy Back) และขายต่อ (Resale) เฟอร์นิเจอร์อิเกียที่ผ่านการใช้งานแล้ว เพื่อยืดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ ลดการใช้วัตถุดิบและส่งเสริมการนำกลับมาใช้ซ้ำ หรืออีกหนึ่งตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้ โดยในปี พ.ศ. 2554 กระทรวงสิ่งแวดล้อมและสถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐเกาหลี ได้เปิดตัวระบบบัตรสะสมคะแนน (Green Credit Card) เพื่อส่งเสริมรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้ใช้บัตรสามารถสะสมคะแนนเมื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากธุรกิจที่ร่วมรายการ”

“การสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ ไม่ได้หมายความว่า ความรับผิดชอบในการลดผลกระทบด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและการบริโภคสินค้าจะตกอยู่กับผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว แต่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน” มร. ฮอฟมันน์ กล่าวเสริม

___________________________________

เกี่ยวกับ SCP Outreach
โครงการสนับสนุนการพัฒนาด้านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืนในเอเชีย (ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และภูฎาน) หรือ SCP Outreach ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณู สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) โดยมี GIZ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินงาน ซึ่งโครงการ SCP Outreach สนับสนุนการพัฒนากรอบนโยบายและการเพิ่มขีดความสามารถเชิงสถาบัน โดยมุ่งเน้นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ (GPP) และฉลากสิ่งแวดล้อม โดยมีการดำเนินงานใน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม และภูฎาน ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ซึ่งกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการฯ