G20 จัดการประชุมว่าด้วยน้ำมันพืชยั่งยืน มุ่งรับประกันความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน

การประชุมว่าด้วยน้ำมันพืชยั่งยืน G20 (G20 Sustainable Vegetable Oils Conference หรือ SVOC) ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช การประชุมครั้งนี้จัดโดยรัฐบาลอินโดนีเซีย ร่วมกับสำนักงานจัดการกองทุนสวนปาล์มน้ำมันแห่งอินโดนีเซีย (BPDPKS), สภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (CPOPC) และสมาคมน้ำมันปาล์มแห่งอินโดนีเซีย (IPOA) โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยตัวแทนจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย และยูเครน รวมถึงอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศและความตึงเครียดทางการเมืองนั้น ชุมชนผู้ผลิตน้ำมันพืชยังคงยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและไม่แตกแยก โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการรับประกันความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต (Airlangga Hartarto) รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับประกันความพร้อม การเข้าถึง และราคาของสินค้าเกษตรในตลาดโลก ซึ่งรวมถึงน้ำมันพืช “เราจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเพื่อร่วมกันเผชิญกับปัญหาโครงสร้างตลาดที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรง”

นายหม่า โหย่วเซียง (Ma Youxiang) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท สาธารณรัฐประชาชนจีน เน้นย้ำว่าจีนกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมน้ำมันพืช ขณะเดียวกัน นางโชบา คารันดลาเจ (Shobha Karandlaje) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและเกษตรกรของอินเดีย ได้เรียกร้องให้เห็นถึงความสำคัญของเมล็ดพืชน้ำมันชนิดใหม่ ๆ ที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศที่ยากจนและประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต โดยทั้งสองท่านได้แสดงทรรศนะผ่านการประชุมแบบไฮบริดซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500 คน จาก 41 ประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภค

นอกจากนี้ วิทยากรจากองค์การการค้าโลก (WTO), องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO), โครงการอาหารโลก (World Food Program) และหน่วยงานรับรองอื่น ๆ ยังได้มาร่วมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกในแง่มุมต่าง ๆ เช่น แม้ว่าการผลิตและการจำหน่ายน้ำมันบางส่วนจะหยุดชะงัก แต่หลายฝ่ายก็ได้ก้าวเข้ามาเพื่อรับประกันความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ขณะเดียวกัน ห่วงโซ่อุปทานน้ำมันพืชจำนวนมาก เช่น น้ำมันปาล์มและน้ำมันถั่วเหลือง สามารถจัดสรรเงินลงทุนในด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบของระบบการเกษตรและการผลิตที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ นอกจากนี้ การประชุมยังเป็นเวทีเพื่อพิจารณาความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับแผนการรับรองความยั่งยืนของน้ำมันปาล์ม ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเพื่อรองรับการตรวจสอบย้อนกลับของห่วงโซ่อุปทานน้ำมันปาล์ม

นายริซาล แอฟฟานดิ ลุกแมน (Rizal Affandi Lukman) เลขาธิการของสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม ยืนยันว่าน้ำมันปาล์มยั่งยืนเป็นน้ำมันพืชที่มีราคาไม่แพงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมทั้งดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยถือเป็นคำตอบของปัญหาการขาดแคลนน้ำมันพืชทั่วโลกและวิกฤตพลังงานในยุโรปในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพน้ำมันปาล์มยั่งยืนเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างสูงในฤดูหนาวนี้ ขณะเดียวกัน นายโจโก สุปรีโยโน (Joko Supriyono) ประธานสมาคมน้ำมันปาล์มแห่งอินโดนีเซีย ได้สนับสนุนให้ผู้ผลิตน้ำมันพืชทุกรายตอบสนองความต้องการด้านอาหารและพลังงานของโลกด้วยการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงมีบทบาทในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ