นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะประกอบด้วย นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวอัญชลีย์ เขียวเกษม ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 ดร.พลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม พร้อมทีมงานกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ตามแนวทางการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเร่งขับเคลื่อนเพื่อช่วยพัฒนาสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่า และยกระดับมาตรฐานเพื่อการส่งออกในอนาคต
โดยคณะทำงานได้เดินทางลงพื้นที่ บริษัท เลม่อน โกลด์ (แอล.เอ็ม.จี) จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมะนาวแช่แข็ง น้ำมันหอมระเหยมะนาว และผลิตภัณฑ์มะนาวแปรรูปต่างๆ อาทิ สบู่ สเปรย์ดับกลิ่นปาก น้ำมันนวด ยาดม ถ่านชีวมวลจากเปลือกมะนาว เป็นต้น โดยมี นายวิวัฒน์ พริ้งจำนัส ผู้บริหาร ต้อนรับและนำชมสถานประกอบการ ซึ่งบริษัทมีลักษณะเป็นโรงงานแปรรูปมะนาวครบวงจรที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเกษตรกรผู้ค้ามะนาวและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ โรงงานได้รับมาตรฐาน อย. GMP HACCP HALAL รวมถึงวัตถุดิบเป็นสินค้า GI โดยมีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพแปรรูปมะนาวท้องถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่าที่สามารถสร้างมูลค่าและกระจายรายได้ให้เกษตรกรและคนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทเคยได้รับรางวัล Genius the Creation ในกิจกรรมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบอัจฉริยะ ตามโครงการเพิ่มศักยภาพและยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เกษตรแปรรูป) โดยกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เมื่อปี พ.ศ.2563
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวชื่นชมผู้ประกอบการ ที่มีส่วนสำคัญในการกระจายรายได้ให้ชุมชน จากการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร และได้เข้าร่วมพัฒนาองค์ความรู้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชนและขยายตลาดสู่ระดับสากล ซึ่งตรงตามแนวทางที่ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ไว้ คือ การสร้าง “โมเดลชุมชนดีพร้อม” (DIPROM) ประกอบด้วย การค้นหาผู้ประกอบการต้นแบบและบอกต่อ การประสานประโยชน์ การเสริมความแข็งแกร่งผู้ประกอบการ และการยกระดับผลผลิต ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในพื้นที่ ในการพัฒนาและแปรรูปผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์เกษตรด้วยเทคโนโลยี เครื่องจักร และนวัตกรรม สร้างความหลากหลายของสินค้าและผลิตภัณฑ์พร้อมบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สามารถขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อส่งเสริมและพัฒนา บุคลากรภาคการเกษตรและ SMEs ให้มีขีดความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในภายภาคหน้า