CGTN:จีนเผยเหตุผลเบื้องหลังความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ

เมื่อ 60 ปีที่แล้ว จีนได้ส่งทีมแพทย์ชุดแรกไปยังประเทศแอลจีเรียในปี พ.ศ. 2506 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จีนได้ส่งบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 30,000 คนไปยัง 76 ประเทศและภูมิภาค เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนมากถึง 290 ล้านคนทั่วโลก จากการเปิดเผยของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน

“การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ประเทศอื่น ๆ เป็นส่วนสำคัญภายใต้ภารกิจของจีนในการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ” นายหวัง เหวินปิน (Wang Wenbin) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 เมษายน “นอกจากนั้นยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของจีนในการสร้างประชาคมสุขภาพร่วมกันของมวลมนุษยชาติ”

นอกจากนี้ นายหวังได้ยกตัวอย่างสถานการณ์โควิด-19 ว่า “จีนได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญ 37 ทีมไปยัง 34 ประเทศ พร้อมทั้งจัดหาวัคซีนโควิด-19 มากกว่า 2.2 พันล้านโดสให้กับ 120 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ”

นายหวังกล่าวว่า ระยะเวลาตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า สำหรับจีนนั้น การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์คือวิธีที่เพื่อนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ความพยายามในการช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ

ความช่วยเหลือทางการแพทย์เป็นความช่วยเหลือรูปแบบหนึ่งที่จีนมอบให้กับประเทศอื่น ๆ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 เมื่อผู้นำจีนในขณะนั้นได้ตัดสินใจสนับสนุนความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและบรรลุผลสำเร็จด้านการพัฒนา

ส่วนการช่วยเหลือรูปแบบอื่น ๆ ประกอบด้วยความช่วยเหลือทางการเงินและอาหาร ตลอดจนโครงการความร่วมมือในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

ในช่วงปี 2556-2561 จีนได้จัดสรรงบประมาณ 2.702 แสนล้านหยวน (ราว 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ซึ่ง 47.3% ในจำนวนนี้เป็นเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า โดยข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานสมุดปกขาวหัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศในยุคใหม่ของจีน” ซึ่งเผยแพร่โดยสำนักสารสนเทศของคณะมุขมนตรีจีน (State Council Information Office) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564

รายงานสมุดปกขาวดังกล่าวยังระบุด้วยว่า จีนได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารในกรณีฉุกเฉินแก่ 50 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหลายสิบล้านคน

สุภาษิตจีนโบราณกล่าวไว้ว่า “ถ้าให้ปลาใครหนึ่งตัว เขามีกินแค่หนึ่งวัน แต่ถ้าสอนให้เขาจับปลา เขามีกินตลอดชีวิต” ด้วยเหตุนี้ จีนจึงก้าวไปไกลกว่าการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพียงอย่างเดียว โดยจีนได้หันมาสนับสนุนโครงการความร่วมมือเพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศผู้รับสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองได้

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) และกองทุนสนับสนุนความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South Cooperation Assistance Fund หรือ SSCAF) ถือเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

ในส่วนของกองทุนสนับสนุนความร่วมมือใต้-ใต้นั้น รายงานสมุดปกขาวระบุว่า ณ สิ้นปี 2562 จีนได้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ 14 แห่งภายใต้กรอบดังกล่าว เพื่อเปิดตัวโครงการ 82 โครงการซึ่งครอบคลุมหลากหลายด้าน อาทิ การพัฒนาเกษตรกรรม การบรรเทาความยากจน และการช่วยเหลือด้านการค้า เป็นต้น

จิตวิญญาณของการแบ่งปันและการช่วยเหลือ

ปีนี้เป็นปีวาระครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ และมีการริเริ่มโครงการความร่วมมือกว่า 3,000 โครงการตลอดทศวรรษที่ผ่านมา” นายฉิน กัง (Qin Gang) มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พร้อมกล่าวเสริมว่าข้อริเริ่มนี้ “สร้างงานในท้องถิ่นมากถึง 420,000 ตำแหน่ง และช่วยให้ประชาชนเกือบ 40 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน”

“ความงามที่แท้จริงของข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอยู่ในจิตวิญญาณเบื้องหลังแนวคิดดังกล่าว นั่นคือ การแบ่งปัน โดยจีนเลือกที่จะแบ่งปันความสำเร็จกับประเทศกำลังพัฒนาประเทศอื่น ๆ” นายอาห์ซาน อิกบาล เชาดารี (Ahsan Iqbal Chaudhary) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาแผนงานและโครงการริเริ่มพิเศษของปากีสถาน กล่าวระหว่างเข้าร่วมการประชุมโป๋อ่าว ฟอรัม ฟอร์ เอเชีย (Boao Forum for Asia) เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม

นายหลัว จ้าวฮุย (Luo Zhaohui) ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของจีน (China International Development Cooperation Agency หรือ CIDCA) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระหว่างการประชุมสองสภาในปีนี้ว่า ความช่วยเหลือของจีนเป็นลักษณะของการช่วยเหลือมิตร โดยยกตัวอย่างว่าจีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือตุรกีและซีเรีย หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายสวี่ เว่ย (Xu Wei) โฆษกของ CIDCA กล่าวว่า ประชาชนชาวจีนและประชาชนจากประเทศอื่น ๆ ต่างมีชะตากรรมร่วมกัน และจีนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ภายใต้ขอบเขตของความร่วมมือใต้-ใต้

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 เมษายน นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า จีนมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงประเทศในทวีปแอฟริกาด้วยเช่นกัน

https://news.cgtn.com/news/2023-04-24/Why-is-China-committed-to-aiding-countries-in-need–1jgFML67GDu/index.html