จีนให้คำมั่นว่าจะปกป้องการลงทุนและการดำเนินธุรกิจในประเทศให้ดีขึ้น เพื่อเดินหน้าเปิดเสรีอย่างรอบด้านและขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คำมั่นสัญญาดังกล่าวมีขึ้นเกือบสองเดือนหลังจากที่จีนได้สมัครเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และประมาณหนึ่งเดือนครึ่งก่อนที่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะมีผลบังคับใช้
จีนจะปฏิบัติต่อทุกภาคส่วนในตลาดอย่างเท่าเทียมกัน และสร้าง “ระบบตลาดที่เป็นหนึ่งเดียวและเปิดกว้างด้วยการแข่งขันที่เป็นระเบียบ” ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน กล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) CEO Summit ผ่านทางลิงก์วิดีโอเมื่อวันพฤหัสบดี พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมุ่งมั่นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเดินหน้าสร้างประชาคมเอเชียแปซิฟิกที่มีอนาคตร่วมกัน
สีจิ้นผิงยังได้อธิบายถึงมาตรการที่ทางการจีนนำมาใช้เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อปรับปรุงการดำเนินการตามกฎหมายต่อต้านการผูกขาด และเสริมสร้างกฎระเบียบของอุตสาหกรรมภายในประเทศบางประเภท โดยระบุว่า มาตรการเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจระบบตลาดของจีนให้แข็งแกร่ง พร้อมกล่าวเสริมว่า มาตรการดังกล่าวเป็นแนวทางที่ทั่วโลกปฏิบัติกัน
“เราจะทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อรวบรวมและพัฒนาภาครัฐให้แข็งแกร่ง ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน และชี้แนะการพัฒนาภาคเอกชน” สีจิ้นผิงกล่าว
จีนจะพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างรากฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว และเพิ่มการปกป้องธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกที่เข้าไปลงทุนและเริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศจีน
กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค ก่อตั้งขึ้นในปี 2532 และกลายเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 21 เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การประชุม APEC CEO Summit เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Week) ประจำปี 2564 ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ และมีนายกรัฐมนตรี เจซินดา อาร์เดิร์น เป็นประธานการประชุม
ขณะเดียวกัน สีจิ้นผิงยังได้เรียกร้องให้ประเทศและเศรษฐกิจในภูมิภาค “มองและเดินไปข้างหน้า” รวมทั้ง “ต่อต้านการกระทำที่เลือกปฏิบัติและผูกขาด”
“การขีดเส้นตามอุดมการณ์และการสร้างกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์ขนาดเล็กหลากหลายกลุ่มจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต” เขากล่าว “ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่สามารถและไม่ควรกลับไปสู่ภาวะเผชิญหน้าและการแบ่งแยกในยุคสงครามเย็น”
การพัฒนาและการเปลี่ยนผ่านสีเขียว
สีจิ้นผิงยังได้อธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการเปลี่ยนผ่านสีเขียว พร้อมเรียกร้องแนวทางที่เป็นองค์รวมและมีการประสานงานเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและคาร์บอนต่ำ
“หากไม่มีการพัฒนา เราก็จะไม่สามารถส่งเสริมพลังทางเศรษฐกิจที่เพียงพอต่อการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียวอย่างยั่งยืน หากชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนถูกละเลย ก็จะไม่มีการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียวทางสังคม” ผู้นำจีนกล่าว
ทั้งนี้ จีนประกาศว่าจะเปิดตัวชุดมาตรการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสีเขียวโดยรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในช่วงแผนห้าปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) และต่อ ๆ ไป โดยจีนตั้งเป้าที่จะบรรลุจุดสูงสุดของการปล่อยคาร์บอนภายในปี 2573 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2603
ในขณะเดียวกัน ทางการจีนให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามปรัชญาการพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง หลังจากขจัดความยากจนให้หมดสิ้นไป และคว้าชัยชนะครั้งสำคัญในการสร้างสังคมที่มั่งคั่งปานกลางในทุก ๆ ด้าน จีนกำลังเพิ่มความพยายามอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงด้วยความมุ่งหมายที่จะนำความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันมาสู่ทุกคน
“เราจะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ยึดมั่นในแนวทางที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และประสานการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการดูแลเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนการอนุรักษ์พลังงานและการลดการปล่อยมลพิษ” สีกล่าว
เขาเรียกร้องให้มีการ “ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวในการพัฒนาเศรษฐกิจ และบรรลุการพัฒนาเปลี่ยนผ่านสีเขียวที่มากขึ้น”
สีจิ้นผิงกล่าวถึงการดำเนินการของจีนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ว่าเป็น “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้ง” และสะท้อนให้เห็นว่า จีนมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสีเขียวทั่วโลก
ทั้งนี้ สีจิ้นผิงจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 28 ผ่านวิดีโอลิงก์ในวันศุกร์นี้ และจะกล่าวสุนทรพจน์อีกครั้งที่การประชุมนี้
https://news.cgtn.com/news/2021-11-11/Xi-China-to-treat-market-entities-equally-build-open-market-system-155j46p5vCE/index.html