มีคำกล่าวจีนในสมัยโบราณว่า “การขุดบ่อน้ำเริ่มจากหลุมตื้น ๆ จนกลายเป็นหลุมลึก” ซึ่งหมายความว่า การเดินทางอันยาวไกลเริ่มต้นจากก้าวเดียว คำกล่าวนี้มาจาก “หลิว จื่อ – ฉง เสวีย” หนังสือที่เขียนขึ้นเมื่อราว 1,500 ปีมาแล้ว
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มองว่าการศึกษาคือก้าวแรกและรากฐานของ “การขุดบ่อ” เพื่อขจัดความยากจนสัมบูรณ์ (absolute poverty) ซึ่งจีนสามารถทำสำเร็จในปี 2563
ป้องกันไม่ให้ความยากจนส่งต่อไปถึงคนรุ่นหลัง
โรงเรียนประถม Yangjialing Fuzhou Hope Primary School ในเมืองหยานอาน มณฑลส่านซีทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้รับการปรับปรุงหลังได้รับเงินบริจาคจากเมืองฝูโจว เมืองเอกของมณฑลฝูเจี้ยนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในปี 2538 หลังจากที่นายสี จิ้นผิง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองฝูโจว ได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นช่วยกันสร้างโรงเรียนในพื้นที่ด้อยพัฒนาทั่วประเทศ
“อย่าปล่อยให้เด็ก ๆ เคว้งคว้าง ณ จุดเริ่มต้นของชีวิต” นายสี จิ้นผิง กล่าวขณะเยี่ยมเยือนโรงเรียนในปี 2558 เพื่อตอกย้ำว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ยากไร้
โรงเรียนซึ่งเคยมีครูเพียงหนึ่งคนและห้องเรียนเพียงหนึ่งห้องอยู่ในถ้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและสังคม จนปัจจุบันมีอาคารสูง 4 ชั้น พร้อมห้องเรียนมัลติมีเดียอันทันสมัย และนักเรียนยังได้รับประทานอาหารกลางวันฟรีด้วย
ข้อมูลสถิติจากกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2563 ระบุว่า จีนลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งรวมถึงอาหารกลางวันฟรีและปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียน เพิ่มขึ้นกว่า 8% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สมุดปกขาวว่าด้วยการบรรเทาความยากจนในจีนซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2564 ระบุว่า จีนได้ปรับปรุงโรงเรียน 108,000 แห่ง เพื่อให้การศึกษาภาคบังคับ 9 ปีในพื้นที่ยากไร้นับตั้งแต่ปี 2556
“การบรรเทาความยากจนต้องเริ่มจากการขจัดความไม่รู้ ดังนั้น การให้การศึกษาที่ดีแก่เด็กในชนบทถือเป็นภารกิจสำคัญในการบรรเทาความยากจน และเป็นวิธีการสำคัญในการหยุดความยากจนไม่ให้ส่งต่อไปถึงคนรุ่นหลัง” นายสี จิ้นผิง กล่าว
ลดช่องว่างด้านการศึกษา
ความเท่าเทียมด้านการศึกษาเป็นพื้นฐานของความเท่าเทียมทางสังคม และในหลายโอกาส นายสี จิ้นผิง ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการลดช่องว่างด้านทรัพยากรและคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท
กระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2559-2563) จีนได้จัดสรรงบประมาณราว 7.495 แสนล้านหยวน (1.146 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนการศึกษาภาคบังคับ และ 90% ของงบประมาณทั้งหมดลงไปสู่พื้นที่ชนบท ยกตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนจากครอบครัวยากจนได้รับค่าครองชีพจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการศึกษา
สมุดปกขาวว่าด้วยการบรรเทาความยากจนในจีนประจำปี 2564 ระบุว่า ไม่มีเด็กในชนบทเลิกเรียนกลางคันเพราะประสบปัญหาทางการเงิน โดยเด็กจากครอบครัวยากจนในชนบททุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และอัตราการสำเร็จการศึกษาในปี 2563 อยู่ที่ 94.8%
ในขณะที่จีนพัฒนาการศึกษาให้เป็นระบบดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตได้ช่วยอุดช่องว่างระหว่างการศึกษาในเมืองและชนบท โดยโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาทั่วประเทศต่างมีอินเทอร์เน็ตใช้
ปัจจุบัน นักเรียนของโรงเรียน Yangjialing Fuzhou Hope Primary School มี “ห้องเรียนอินเทอร์เน็ต” โดยมีการใช้อินเทอร์เน็ตแชร์การสอนแบบเรียลไทม์จากโรงเรียนพันธมิตรตามเมืองใหญ่
นอกจากนี้ จีนยังใช้นโยบายที่เอื้ออำนวยอีกมากมายเพื่อดึงเด็กนักเรียนยากจนให้เข้ามาเรียนมากขึ้น ขยายการจ้างงานผู้สำเร็จการศึกษา และช่วยเหลือเด็กนักเรียนให้หลุดพ้นจากความยากจนผ่านการอาชีวศึกษา
ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายกว่า 8 ล้านคนจากครอบครัวยากจนต่างได้รับการฝึกอาชีพ ขณะที่เด็กนักเรียนยากจนราว 5.14 ล้านคนได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำได้รับนักเรียนจากพื้นที่ชนบทและพื้นที่ยากจนราว 700,000 คนเข้าศึกษาต่อ
https://news.cgtn.com/news/2021-06-10/Education-in-China-s-fight-against-poverty-Leaving-no-one-behind-10XpqIElk1q/index.html
ลิงก์: https://www.youtube.com/watch?v=CcUM0b2VEJ8