เชื้อเพลิงอากาศยานเทคโนโลยีใหม่ผลิตจากขยะ คือโซลูชันที่อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศโลกได้นำเสนอเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ในกิจกรรม Transport Day ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ อันเป็นการตอกย้ำพันธกิจของสายการบิน สนามบิน ผู้บริหารการจราจรทางอากาศ รวมถึงผู้ผลิตเครื่องบินและเครื่องยนต์ทั่วโลก ในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ตามเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยอุตสาหกรรมการบินนับเป็นหนึ่งในไม่กี่ภาคส่วนที่ประกาศพันธกิจระดับโลกเช่นนี้
ผลการวิเคราะห์โดยละเอียดในรายงาน Waypoint 2050 ได้สรุปแนวทางอันน่าเชื่อถือสำหรับภาคการขนส่งทางอากาศในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยอุตสาหกรรมระบุว่าการผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ อาทิ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าและไฮโดรเจนสำหรับเที่ยวบินระยะสั้นบางส่วน การปรับปรุงการดำเนินงานและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เชื้อเพลิงสำหรับการบินที่มีความยั่งยืนภายในช่วงกลางศตวรรษ จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนส่วนใหญ่ได้ ส่วนคาร์บอนที่เหลือที่ถูกปล่อยออกมาสามารถดักจับได้โดยใช้วิธีการกำจัดคาร์บอนที่มีอยู่หลายวิธี
คุณฮาลเดน ด็อดด์ รักษาการผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ (Air Transport Action Group) กล่าวในการประชุม COP26 ร่วมกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรว่า “อุตสาหกรรมการบินได้ยกระดับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจจำเป็นต้องปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างเข้มข้น แม้ต้องยืนหยัดรับมือวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบิน โดยการตั้งเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 แสดงให้เห็นว่าภาคส่วนของเราได้กำหนดให้ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่สุด”
การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับการขนส่งทางอากาศอย่างสมบูรณ์ในช่วงกลางศตวรรษมีความเป็นไปได้ ด้วยการหันมาใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนที่ผลิตจากขยะและพืชหมุนเวียน เพื่อค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่เชื้อเพลิงที่ผลิตจากพลังงานไฟฟ้าปล่อยคาร์บอนต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนจะสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวในเกือบทุกประเทศ และจะสนับสนุนตำแหน่งงานมากถึง 14 ล้านตำแหน่งทั่วโลก
“การวิเคราะห์ของเราได้นำเสนอแนวทางที่หลากหลาย ตั้งแต่ทางเลือกเทคโนโลยีใหม่ เช่น เครื่องบินพลังงานไฟฟ้าและไฮโดรเจนสำหรับการเดินทางระยะสั้น ไปจนถึงการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงยั่งยืนอย่างสมบูรณ์สำหรับการบินระยะกลางและระยะยาว การบรรลุพันธกิจนี้มีหลายขั้นตอนและมีความท้าทายใหญ่หลวง แต่ด้วยการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐและแรงหนุนของภาคพลังงาน ภารกิจนี้สามารถสัมฤทธิผลได้”
“นโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ เราขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สนับสนุนเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ณ การประชุม ICAO ครั้งที่ 41 ในปี 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจของอุตสาหกรรม”
โลโก้ – https://mma.prnewswire.com/media/1682205/ATAG_Logo.jpg