ชุนชน-องค์กรวิชาชีพสื่อจับมือเซเว่นฯ เสริมพลังใจ พลังกายมื้อสำคัญ ผ่านครัวปันอิ่มฯ สู้วิกฤตโควิด-19
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง หลายมาตรการ กฎเกณฑ์ ข้อจำกัดต่างๆ ล้วนไม่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะชุมชนขนาดเล็กที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ไล่ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย รายได้ที่ลดลง ไปจนถึงการหาข้าวปลาอาหารประจำวัน ที่ทำได้ยากยิ่งกว่าเดิม
ทว่าอย่างน้อยที่สุด เสียงสะท้อนจากความเดือดร้อนครั้งนี้ ได้จุดเจตนารมณ์ของการช่วยเหลือให้เกิดขึ้นได้ ด้วยความตั้งใจของ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ได้ผนึกกำลังธุรกิจในเครือ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง กว่า 100 องค์กรพันธมิต จัดโครงการ “ครัวปันอิ่ม ร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19” แจกอาหาร 2 ล้านกล่อง เพื่อหวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องในชุมชนต่าง ๆ และผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารรายย่อยให้สามารถฝ่าวิกฤติโควิดไปได้
โดยอาหาร จำนวน 2 ล้านกล่องนี้ ประกอบด้วย ส่วนแรกเป็นการช่วยเหลือร้านอาหารรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการแพร่ระบาด โดยโครงการครัวปันอิ่มจะจัดซื้ออาหารที่ปรุงใหม่สุกสะอาดตามหลักโภชนาการบรรจุกล่องถูกสุขอนามัยจากร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดกลางในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1 ล้านกล่อง และอีก 1 ล้านกล่องเป็นการสมทบอาหารจากเครือซีพีที่เป็นอาหารอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน รวมเป็น 2 ล้านกล่อง ซึ่งประกอบไปด้วยเมนูอาหารแตกต่างกันในแต่ละวัน
นายอนันต์ นิลมานนท์ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย เล่าว่าแนวคิดการร่วมมือกันของเครือซีพีและกลุ่มสื่อมวลชน เป็นอีกหัวใจสำคัญที่ทำให้ภารกิจนี้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว การที่ผู้บริหารในเครือซีพีและเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ส่งความช่วยเหลือตรงนี้ไว้กับมือของกลุ่มสื่อมวลชนอาชีพที่มีข้อมูลของชุมชนต่างๆ อยู่แล้ว เป็นความใส่ใจที่ช่วยให้การแจกจ่ายข้าวกล่องทำได้เร็วขึ้น และยังลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อได้ดีด้วย ข้าวกล่องไปถึงมือชุมชนครบ คนก็ได้ประโยชน์เต็มๆ และยังช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลไปได้เยอะมากอีกด้วย
ด้าน นายเกียรติก้อง วรรธนะสุขสันต์ ประธานชุมชนสวนอ้อย มองว่าโครงการครัวปันอิ่มฯ ช่วยสร้างประโยชน์ให้ตกกับชาวชุมชนได้โดยตรง พอโควิดเข้ามา ชุมชนสวนอ้อยได้เปลี่ยนจากที่เคยครึกครื้นเป็นความเดือดร้อนกันหมดเลย และพอรายได้ไม่มี มีแต่รายจ่ายอย่างเดียวก็ลำบาก ถึงตรงนี้ข้าวกล่องหนึ่งกล่องก็ทำให้เราประหยัดไปหนึ่งมื้อ และช่วยชาวบ้านได้เยอะมาก ทุกคนก็อยากขอบคุณถึงเซเว่นฯ ที่นำโครงการดีๆ แบบนี้มาแบ่งเบาภาระพวกเขา ทุกคนได้อิ่มท้อง สมชื่อครัวปันอิ่มฯ ผมคิดว่าในครั้งนี้ เซเว่นฯ เดินหน้ามาถูกทางแล้ว
อีกเสียงคำขอบคุณถึงครัวปันอิ่ม นางลัดดา ลีลาวนาวัลย์ ประธานชุมชนสามย่าน กล่าวว่า ชุมชนสามย่านเป็นพื้นที่ ที่มีร้านค้าเยอะมาก แต่พอมีโควิดทุกคนต้องปิดกันหมด รายได้ไม่มี ต้องแบกภาระกันหมด พอมีโครงการครัวปันอิ่มฯ เข้ามา เราก็อยากขอบคุณที่ยังไม่ลืมกัน ไม่ทิ้งกัน ขอบคุณที่ยังเข้ามาช่วยชุมชนตรงนี้ ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของเราไปได้บ้าง และส่วนตัวก็ปลาบปลื้มแทนกลุ่มร้านค้า ที่ครัวปันอิ่มฯ ช่วยเหลือสนับสนุนซื้อข้าวกล่องจากร้านค้ารายย่อยมาแจกจ่ายตรงนี้ เพราะมันคือการปันให้ร้านค้ามีรายได้ประคองตัวเองในช่วงโควิดได้
นางรัตนา วราภักดิ์ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดอยุธยาเจ้าเก่า ที่ได้ร่วมโครงการ “ครัวปันอิ่ม” กล่าวว่า จากพิษโควิค-19 ครั้งที่ 3 นี้ถือได้ว่าสาหัสมาก แทบขายไม่ได้เลย ต้องรอออเดอร์จากออนไลน์ซึ่งก็ไม่รู้จะได้เมื่อไหร่ และรู้สึกดีใจมากที่ทางร้านได้รับเลือกเข้าโครงการ “ครัวปันอิ่ม” ถือได้ว่า มาช่วยต่อลมหายใจได้จริง ๆ ขอบพระคุณเจ้าของโครงการมาก ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าได้ดีมาก ทำให้เรามีรายได้ และออเดอร์ที่ชัดเจน อีกทั้งเราได้มีส่วนในการร่วมช่วยเหลือสังคมด้วย และยังเป็นผลดีกับการต่อยอดโปรโมทร้าน และมีคนที่ชอบอาหารตามมาสั่งซื้อที่ร้านเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งทำให้ร้านเราคงอยู่ต่อไป
แม้ท้ายที่สุดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย รวมถึงในชุมชนต่างๆ จะยังไม่จบลง แต่ในเวลายากลำบากไม่รู้ว่าวิกฤตจะจบลงตอนไหน ข้าวกล่องหนึ่งมื้อจากโครงการครัวปันอิ่ม ร้อยเรียงใจ สู้ภัยโควิด-19 ก็ถือเป็นแรงใจมื้อสำคัญ ที่เข้ามาช่วยสร้างพลังกายให้คนไทยมีเรี่ยวแรงพอจะสู้กับวิกฤตนี้ต่อไป