Stanford Thailand Research Consortium จัดสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ ‘Future Thailand – Innovation in Education and Workforce Development’ ถกประเด็นช่องว่างทางทักษะในการพัฒนากำลังคน

โครงการ Innovative Teaching Scholars (ITS) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มด้านการวิจัยที่สำคัญของ Stanford Thailand Research Consortium (STRC) เตรียมเผยความก้าวหน้าของโครงการพร้อมสำรวจมุมมองของภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ระหว่างงานสัมมนาออนไลน์ที่มีผู้เข้าร่วมอภิปรายจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและจากบริษัทชั้นนำในประเทศไทย

งานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ จัดขึ้นในหัวข้อ “Future Thailand – Innovation in Education and Workforce Development” ในวันพุธที่ 2 มิถุนายน เวลา 10.00 – 11.30 น. โดยจะมุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะความจำเป็นในการส่งเสริมความพร้อมของกำลังคน ตลอดจนการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อสนับสนุนบุคลากรด้านการศึกษาในการสร้างการมีส่วนร่วมและเตรียมพร้อมเยาวชนของชาติให้รับมือกับอนาคต

ผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วยคณาจารย์และนักวิจัยจากสแตนฟอร์ด ตลอดจนผู้บริหารจากองค์กรไทย โดยผู้ร่วมอภิปรายจากสแตนฟอร์ด ได้แก่ Sheri Sheppard, Richard W. Weiland ศาสตราจารย์จาก Stanford School of Engineering และ Leticia Britos Cavagnaro ศาสตราจารย์วุฒิคุณ สถาบันการออกแบบ Hasso Plattner ร่วมกับผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ได้แก่ นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มอินทัช และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และ นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป

บุคลากรทางการศึกษา ประชาชนที่สนใจ และสื่อมวลชนสามารถเข้าร่วมรับฟังข้อมูลในงานสัมมนาออนไลน์ ซึ่งจะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษและมีล่ามแปลเป็นภาษาไทยผ่านระบบ Zoom Webinar โดยสามารถเข้าร่วมงานได้ที่

https://stanford.zoom.us/j/91270258461?pwd=eXdVQkZmWmdTd1RRaXQ0R3MvMEVqZz09

ผู้สำเร็จการศึกษาในประเทศไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับช่องว่างระหว่างความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยกับทักษะที่จำเป็นเพื่อความสำเร็จในการเริ่มต้นอาชีพและกลายเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมภายในองค์กร โครงการ ITS มุ่งสร้างความมีส่วนร่วมกับนักศึกษาและปรับปรุงผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น โดยได้มุ่งค้นหาวิธีส่งเสริมการพัฒนาของบุคลากรทางการศึกษาและความสามารถในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

“โครงการของเราได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการทำงานร่วมกับเหล่าบุคลากรทางการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ทุ่มเทต่อการยกระดับการศึกษาไทย” Leticia Britos Cavagnaro หัวหน้าโครงการ ITS กล่าว “นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต้นสังกัดของบุคลากรทางการศึกษาแต่ละแห่งจะเป็นผู้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงจากโครงการนี้ เนื่องจากเหล่าบุคลากรที่ได้เข้าร่วมในโครงการจะนำวิธีคิดและรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่ได้ มาใช้ในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ของนักเรียน ตลอดจนทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลให้กับเพื่อนๆ บุคลากรท่านอื่นที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเช่นเดียวกัน”

สำหรับหัวข้อการวิจัยด้านการศึกษาในโครงการ Innovative Teaching Scholars (ITS) นี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนแปลงโมเดลเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ 4.0 ในการติดอาวุธนักเรียนไทยให้มีทักษะแห่งอนาคตใหม่ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้พวกเขากลายเป็นบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์และเป็นผู้นำที่มีเป้าหมายในยุคของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ในการเผชิญกับความท้าทายระดับโลก ปัจจัยเร่งจากการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยี และการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมในการสร้างประสบการณ์ทางการศึกษาและการพัฒนากำลังคนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ โครงการวิจัยยังมุ่งเน้นถึงปัจจัยสำคัญในการสร้างการเติบโตของชุมชนแห่งการปฏิบัติ (Communities of Practice) เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการศึกษาไทยในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ทั้งในสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และในสถาบันให้เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยกุญแจสำคัญของโครงการนี้คือการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและสอดคล้องกันระหว่างเป้าหมายของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กับความต้องการของบริษัทในไทยในฐานะตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความมั่งคั่ง “สิ่งสำคัญที่สุด คือเหล่าบุคลากรทางการศึกษาไม่ย่อท้อต่อการค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนของพวกเขาได้ออกแบบชีวิตและอาชีพตามที่พวกเขาใฝ่ฝัน” Sheri Sheppard กล่าว “และเพื่อเตรียมรับมือกับความต้องการทางทักษะที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 21 ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนของบุคลาการทางการศึกษานี้ สามารถสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมและแนวทางการปฏิบัติที่จำเป็นเพื่อสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีความหมายได้”

ในการดำเนินงานของโครงการ ITS นี้ จะมุ่งขยายชุมชนบุคลากรทางการศึกษาไปยังคณาจารย์กว่า 250 คน ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของประเทศไทยภายในปี 2566 ดังนั้น งานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำหรับบุคลกรทางการศึกษาที่จะได้เข้าใจถึงบริบทร่วมในสิ่งที่ค้นพบจากงานวิจัยกับมุมมองของภาคอุตสาหกรรมในโลกแห่งความจริง เพื่อนำไปสู่แนวทางในการพัฒนานักเรียน นักศึกษาต่อไป

โครงการ Innovative Teaching Scholars เป็นโครงการริเริ่มของ Stanford Thailand Research Consortium (STRC) ซึ่งสนับสนุนโครงการวิจัยและการศึกษาโดยคณาจารย์ของสแตนฟอร์ดที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาที่สำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย STRC ตั้งอยู่ที่ Stanford’s Office of the Vice Provost and Dean of Research ซึ่งบริหารโดยศูนย์พัฒนาวิชาชีพแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford Center for Professional Development) โดยได้ร่วมมือกับ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (Southeast Asia Center: SEAC) ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจาก เอไอเอส เอพี (ไทยแลนด์) และธนาคารกสิกรไทย