ผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นทุก ๆ 2 ปีพบว่า ตำแหน่ง CDO มีบทบาทเพิ่มขึ้น และมีการจัดการข้อมูลมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก
อีดีเอ็ม เคาน์ซิล (EDM Council) สมาคมการค้าข้ามอุตสาหกรรมเพื่อการจัดการข้อมูล ได้เปิดเผยรายงานเกณฑ์มาตรฐานการจัดการข้อมูลทั่วโลกประจำปี 2566 (2023 Global Data Management Benchmark Report) ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของการมีตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการเติบโตของการจัดการข้อมูลในฐานะระเบียบปฏิบัติแขนงหนึ่งอย่างเป็นทางการภายในองค์กร
ข้อมูลในรายงานเกณฑ์มาตรฐานปี 2566 แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลนั้นมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง:
65% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่าบริษัทของตนมีการแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล (CDO) หรือหัวหน้าผู้บริหารฝ่ายข้อมูลอย่างเป็นทางการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 60% ในปี 2563
86% ของ CDO ในอุตสาหกรรมการเงินในขณะนี้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะผู้บริหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 72% ในปี 2563
80% ของผู้บริหารฝ่ายข้อมูลนอกตลาดการเงินอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะผู้บริหาร โดยในจำนวนนี้มี 20% ที่ขึ้นตรงต่อ CEO
จอห์น บอตเทกา (John Bottega) ประธานอีดีเอ็ม เคาน์ซิล กล่าวว่า “ในฐานะผู้บริหารฝ่ายข้อมูลมากว่า 30 ปี ขอบเขตความรับผิดชอบในงานได้ขยายตัวขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รายงานเกณฑ์มาตรฐานในปีนี้แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งผู้บริหารฝ่ายข้อมูลและหน้าที่การจัดการข้อมูลโดยรวมนั้นมีบทบาทเชิงกลยุทธ์มากขึ้น โดยไม่ใช่แค่ช่วยกำหนดวิสัยทัศน์ด้านการจัดการข้อมูลของบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทิศทางข้อมูลในด้านการวิเคราะห์, AI/ML, ESG และความยั่งยืนอีกด้วย”
รายงานเกณฑ์มาตรฐานฉบับที่ 4 นี้มีผู้เข้าร่วมทำแบบสำรวจมากขึ้นเป็น 3 เท่าและมีคำตอบมาจากหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น โดย 58% ของผู้ตอบแบบสำรวจมาจากบริษัทนอกภาคการเงิน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากตัวเลขในแบบสำรวจปี 2563 ถึง 27% ทั้งนี้ การศึกษาในรายงานดังกล่าวใช้โมเดล DCAM (Data Management Capability Assessment Model) ซึ่งสรุปแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับโปรแกรมข้อมูล เพื่อเป็นกรอบในการประเมินความคืบหน้าของวาระโปรแกรมการจัดการข้อมูลภายในแวดวงวิชาชีพโดยรวม
ผลสำรวจบ่งชี้ว่า 80% ของผู้ตอบแบบสำรวจกำลังจัดทำโปรแกรมการกำกับดูแลข้อมูลหรือได้จัดทำไว้แล้ว นอกจากนี้ รายงานฯ ยังเน้นถึงความสำคัญของการจัดการข้อมูลสาธารณะอย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม แต่ระบุว่ายังต้องมีการปรับปรุง โดยมีเพียง 62% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่ากำลังจัดทำโปรแกรมการกำกับดูแลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ยั่งยืนหรือได้จัดทำไว้แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 51% ในปี 2563 ยิ่งไปกว่านั้น บทวิเคราะห์ในรายงานฯ ยังกล่าวถึงความรู้ความสามารถด้านข้อมูล (data literacy) ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของวัฒนธรรมการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลที่เข้มแข็งและเป็นปัจจัยหลักต่อความสำเร็จโดยรวมของบริษัท ดาวน์โหลดรายงานเกณฑ์มาตรฐานได้ที่ https://app.smartsheet.com/b/form/c252e4ac08594d8e92b17a8fefdfa61d
เกี่ยวกับอีดีเอ็ม เคาน์ซิล
อีดีเอ็ม เคาน์ซิล (EDM Council) เป็นสมาคมระดับโลกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อยกระดับการวิเคราะห์และการจัดการข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจและการดำเนินงาน อีดีเอ็ม เคาน์ซิลเป็นผู้สนับสนุนระดับโลกด้านการพัฒนาและการใช้มาตรฐานข้อมูล แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมถึงโปรแกรมการฝึกอบรมและการรับรองที่ครอบคลุม อีดีเอ็ม เคาน์ซิลมีองค์กรสมาชิกกว่า 350 แห่งทั่วโลกทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลกว่า 15,000 คนเป็นสมาชิก โดยอีดีเอ็ม เคาน์ซิลเปิดโอกาสให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลได้ติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายและสร้างความก้าวหน้าด้านการวิเคราะห์และการจัดการข้อมูลซึ่งเป็นส่วนสำคัญขององค์กร เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://edmcouncil.org/