การตรวจตัวบ่งชี้ทางกายภาพพยากรณ์การเกิดโรคผื่นแพ้อักเสบในทารกได้

นักวิจัยได้ค้นพบตัวบ่งชี้ภูมิคุ้มกันทางกายภาพในเด็กแรกเกิดที่พยากรณ์การก่อตัวและความรุนแรงของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic eczema) ที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้ จากงานวิจัยใหม่ที่นำเสนอในงานประชุมสถาบันวิทยาโรคผิวหนังและกามโรควิทยาแห่งยุโรป (European Academy of Dermatology and Venereology หรือ EADV) ครั้งที่ 31

โครงการศึกษาวิจัยความผิดปกติของชั้นเกราะป้องกันผิวหนังในเด็กแรกเกิดที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Barrier dysfunction in Atopic newBorns หรือ BABY) ได้วิเคราะห์เด็กทารก 450 คน (ประกอบด้วยเด็กแรกเกิดที่คลอดตามกำหนด 300 คนและที่คลอดก่อนกำหนด 150 คน) เพื่อศึกษาว่าชั้นเกราะป้องกันผิวหนังและตัวบ่งชี้ภูมิคุ้มกันทางกายภาพสามารถพยากรณ์การเกิดและความรุนแรงของโรคผื่นแพ้อักเสบในช่วงสองปีแรกของชีวิตได้หรือไม่

การศึกษาพบว่าเด็กทารกทั้งที่คลอดตามกำหนดและก่อนกำหนดซึ่งมีคีโมไคน์ที่กำกับโดยต่อมไทมัสและการกระตุ้นให้ออกฤทธิ์ (Thymus and Activation-Regulated Chemokine หรือ TARC) ในระดับสูงขณะอายุ 2 เดือน มีแนวโน้มสูงกว่าเป็นสองเท่าที่จะเป็นโรคผื่นแพ้อักเสบภายในอายุ 2 ปี ความเสี่ยงที่สูงกว่านี้ยังปรากฏโดยทั่วไปหลังจากวิเคราะห์โดยปรับผลกระทบของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในพ่อแม่ (ซึ่งเป็นกรณีที่ระบบภูมิคุ้มกันไวต่อโรคภูมิแพ้มากกว่า) และการกลายพันธุ์ระดับยีนของฟิลากกริน (filaggrin) ซึ่งเป็นปัจจัยนำหลักของโรคผื่นแพ้อักเสบ ทั้งนี้การศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงบวกระหว่างระดับของ TARC กับความรุนแรงของโรคผื่นแพ้อักเสบ

นักวิจัยใช้แถบเทปในการเก็บเซลล์ผิวหนังโดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและไม่มีการล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายจากหลังมือของทารกที่มีอายุ 0-3 วันและ 2 เดือนในเด็กที่คลอดตามกำหนด และจากผิวหนังระหว่างสะบักของทารกอายุ 2 เดือนในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด จากนั้นจึงนำแถบเทปดังกล่าวไปวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ทางกายภาพและติดตามอาการของทารกในอีก 2 ปีถัดมา

ดร. แอน โซฟี ฮอลลิง (Dr Anne-Sofie Halling) จากโรงพยาบาลบิสเปอเบียะ (Bispebjerg Hospital) มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ซึ่งเป็นผู้นิพนธ์หลักและผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า “เท่าที่เราทราบ นี่เป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่า ตัวบ่งชี้ทางกายภาพในผิวหนังที่เก็บโดยไม่มีการล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายสามารถใช้พยากรณ์การก่อตัวและความรุนแรงของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กที่จะเกิดขึ้นภายหลังได้”

“การศึกษาวิจัยนี้จะช่วยเราสำรวจและสร้างกลยุทธ์การป้องกันในอนาคตสำหรับเด็กที่มี TARC ในระดับสูง เพื่อช่วยหยุดการเกิดโรคนี้ที่พบได้ทั่วไปและทำให้อ่อนเพลีย จึงถือเป็นแนวโน้มที่น่าตื่นเต้น”

โรคผื่นแพ้อักเสบส่งผลกระทบต่อประชากรเด็ก 20% โดยการวินิจฉัยพบโรคดังกล่าวนี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“การตรวจเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด อีกทั้งยังทำได้ง่าย และช่วยเราในการระบุความเปลี่ยนแปลงของผิวหนังที่เกิดขึ้นก่อนการเกิดโรคผื่นแพ้อักเสบ โดยเฉพาะสำหรับการเกิดโรคนี้ในระดับที่รุนแรงที่สุด ถือเป็นการเปิดโอกาสที่จะพัฒนาการศึกษาทดลองแบบมุ่งเป้าและป้องกันการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง” ดร. แอน โซฟี ฮอลลิง กล่าวสรุป