พึ่งพา – อาศัย คำนี้น่าจะเป็นคำที่หลายคนได้ยินผ่านหูบ่อยๆ ย้อนกลับไปสมัยเรียนคำนี้เราจะได้ยินตอนเรียนคาบวิทยาศาสตร์ บทเรียนจะพูดถึงสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศน์ โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์จากความสัมพันธ์นี้ ความหมายของคำนี้ได้กลายมาเป็นจุดตั้งตนของชื่องานสถาปนิก’65 ที่มีความสอดคล้องกับคอนเซปต์หลักของงานที่ชูคอนเซปต์เรื่องการ Collaborate การสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันของศิลปิน นักสร้างสรรค์ในแต่ละสาขาต่างๆ
โดยปีนี้งานสถาปนิก’65 กลับมาพร้อมกับแนวคิดหลัก CO-WITH CREATORS หยิบยกเอาสถาปัตยกรรมที่ใช้กระบวนการออกแบบในลักษณะ “พึ่งพา อาศัย” นำเสนอความน่าสนใจของ “การสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน” ระหว่างสถาปนิก นักคิด นักสร้างสรรค์ในสาขาวิชาชีพต่างๆ ทำให้เกิดผลลัพธ์ของสถาปัตยกรรม ที่มีมุมมองอันหลากหลายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากการออกแบบร่วมกัน ภายใต้การจัดงานโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มีจุดประสงค์การจัดงานเพื่อเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบันจัดไปแล้วถึง 33 ครั้ง โดยมีผู้เข้าชมปีละประมาณ 390,000 คน เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จของงานได้เป็นอย่างดี
แน่นอนว่าปีนี้สถาปนิก’65 ขนทั้งไอเดียสดใหม่ รวมไปถึงการดีไซน์ออกแบบนิทรรศการไฮไลท์ทั้ง 12 นิทรรศการ (Pavilions) มาให้ผู้เข้าชมได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจกลับบ้านกันเต็มๆ
พบ 4 นิทรรศการไฮไลท์ที่ต้องขีดเส้นใต้ว่าห้ามพลาด
สำหรับปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จะมีการคำนวณปริมาณ Carbon Footprint ที่เกิดจากนิทรรศการสถาปนิก’65 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและสร้างเครื่องมือสำหรับนักออกแบบที่สามารถจะช่วยสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางอีกด้วย
1. Co-with COVID pavilion
สาริน นิลสนธิ (D KWA Design Studio) X ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ (Patani Artspace)
ไอเดียของนิทรรศการเป็นการหยิบยกสถานการณ์ปัจจุบันของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 มาปรับเป็นแนวคิดสร้างสรรค์นิทรรศการ ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีม D KWA Design Studio นำทีมโดย สาริน นิลสนธิ และ ผศ.เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ ศิลปินและผู้ก่อตั้ง Patani Artspace ทั้งคู่นำเสนอแนวคิดข้างต้นผ่านการออกแบบโครงสร้างที่ใช้ผ้าเป็นวัสดุหลักในการกำหนดขอบเขต ออกแบบพื้นที่ภายในโดยทำการจัดแบ่งสเปซออกเป็นส่วนๆ เนื้อหาภายในประกอบไปด้วยการตอบคำถามในเรื่องการอยู่อาศัยและการอยู่ร่วมกันในสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นจริง
ทีมออกแบบเลือกใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็คต์ของวัสดุต่างๆ ในการจำลองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตที่ถูกแทนค่าด้วยท่อนำแสง (Lighting tube) และใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงมาเป็นตัวแทนของเชื้อไวรัส โดยยังเปรียบความสัมพันธ์ที่ว่านี้เสมือนชีวิตคู่ขนานที่ต้องอยู่ร่วมและพึ่งพาอาศัยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเป็นเรื่องธรรมชาติและความธรรมดาของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ที่จะเกี่ยวข้องและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันตั้งแต่วันเริ่มต้นชีวิตจนกระทั่งกลับคืนสู่ธรรมชาติ
2. Co-breathing house (Local innovation pavilion)
คำรน สุทธิ (Eco Architect) X จีรศักดิ์ พานเพียรศิลป์ (Joez19)
จุดเริ่มต้นของไอเดียเริ่มจากเฟ้นหาวัสดุพื้นถิ่นเพื่อทำการทดลอง ออกแบบ และพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมที่ยั่งยืน คำรน สุทธิ จาก Eco Architect ผู้มีความเชื่อว่าสถาปัตยกรรมทุกหลังที่ออกแบบจะต้องอยู่สบายและหายใจร่วมกับธรรมชาติ จึงนำโจทย์มาใช้ในการออกแบบพาวิลเลียน ‘Local innovation’ ในปีนี้ หลอมรวมอัตลักษณ์ของตัวเขากับ จีรศักดิ์ พานเพียรศิลป์ หรือ Joez19 ช่างภาพสายครีเอทีฟที่ภาพของเขามักเอ่ยถึงเรื่องธรรมชาติ วิถีชีวิต และความทรงจำ เข้าไว้ด้วยกัน นำไปสู่การออกแบบพาวิลเลียน ‘Co-breathing house’ หลังนี้ ไฮไลท์คือการสร้างลำดับการเข้าถึงในลักษณะ linear circulation ด้วยการแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็น 6 ห้องหลัก ในแต่ละห้องเป็นการนำภูมิปัญญาของวัสดุพื้นถิ่นไทยมาใช้ในเชิงทดลองโดยทำหน้าที่เป็นเปลือกอาคาร(Facade)และความพิเศษของ Co-breathing house คือการออกแบบผนังกั้นภายในห้องต่างๆ ให้กลมกลืนไปกับวัสดุพื้นถิ่น และเลือกเล่นไปกับผัสสะหรือประสาทสัมผัสของมนุษย์ผ่านภาพ เสียง การสัมผัส เพื่อให้ผู้ชมมีส่วนร่วม
3. Professional collaboration
ปกรณ์ อยู่ดี / วิภาดา อยู่ดี ( INLY STUDIO) X ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย (ทะเลจร)
จากความตั้งใจที่ต้องการสร้างพื้นที่และความรู้สึกเสมือนอยู่ท่ามกลางเกลียวคลื่นที่ถูกปกคลุมด้วยขยะซึ่งถูกรีไซเคิลแล้วของทะเลจร INLY STUDIO เพื่อดึงดูดผู้ชมให้เข้าสู่พื้นที่จัดงาน พาวิลเลี่ยน ‘Professional collaboration’ จึงมีลักษณะหน้าตาอย่างที่เห็น ปกรณ์และวิภาดา อยู่ดี จาก อินลิ สตูดิโอ (INLY STUDIO) ได้รับมอบหมายให้ออกแบบพื้นที่ที่สามารถแสดงออกถึงเอกลักษณ์สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นมุมมอง วิธีคิด ปรัชญา ไปจนถึงกระบวนการในการพัฒนาผลงานของพวกเขาเอง โดยต้องดึงเอาบุคลิกและแนวคิดของ ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม ‘ทะเลจร’ ให้โดดเด่นและผสมผสานอยู่ในนั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือโครงสร้างที่ทำหน้าที่คล้ายกับผลงานประติมากรรมถูกนำมาจัดเรียงกันให้สามารถสร้างการรับรู้ได้แบบ 360 องศา ทำให้ผู้ที่เข้าชมสามารถมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้ได้รับสัมผัสและประสบการณ์ความรู้สึกเฉพาะตัวไปในแต่ละจุดของพาวิลเลียน
4. รังมดแดง (Rang Mod Deang) (ASA Member pavilion)
ธรรศ วัฒนาเมธี / อัชฌา สมพงษ์ X ศุภชัย แกล้วทนงค์
แนวคิดตั้งต้นจากการนำเอาวิถีชีวิตของมดแดงมาเป็นต้นแบบ ตั้งแต่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมดกับธรรมชาติ ที่สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ต้องพึ่งพาสิ่งรอบตัวเพื่อใช้ดำรงชีวิต สมาชิกภายในรังเองต่างก็พึ่งพาอาศัยกันและมีทำหน้าที่หลักของตัวเอง ทั้งมดตัวผู้ ตัวเมีย มดนางพญา และมดงาน โดยเฉพาะมดงานที่ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องการหาอาหารและสร้างรัง สู่การออกแบบพาวิลเลี่ยนให้สามารถรองรับการจัดแสดงโมเดลจำนวน 100 ชิ้น จากสำนักงานสถาปนิก 100 แห่ง ซึ่งเปรียบเสมือนตัวอ่อนของมดหรือไข่มด ที่เหล่า ASA Member ทำการฟูมฟักก่อนจะกลายร่างเป็นผลงานจริงและเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานแบบพึ่งพาอาศัยกันด้วย สะท้อนออกมาผ่านรูปทรงของพาวิลเลี่ยนให้เป็นฟอร์มของไขมดแดงผ่านแท่นจัดวางและโคมไฟตกแต่ง รวมไปถึงการนำวัสดุธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดสกลนครและซี่ลูกกรงไม้กระถินณรงค์มาเป็นองค์ประกอบเสริม ใช้เทคนิคการสร้างฟอร์มของงานเหล็กเพื่อให้ได้รูปทรงเสมือนงานศิลปะของตัวรังมดแดง
พร้อมอีก 8 นิทรรศการที่ต้องขอปักหมุดว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน
5. Street Wonder
นิทรรศการแสดงผลงานนิสิตนักศึกษาสถาปัตยกรรม (ASA Student and Workshop pavilion)
ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร X สร้างสรรค์ ณ สุนทร
พาวิลเลียนที่มีฟังก์ชั่นหลักเพื่อนำเสนอและเผยแพร่ความรู้ความสามารถของนักศึกษาสถาปัตยกรรม และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตนักศึกษา เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถแสดงออกถึงตัวตนและศักยภาพที่แท้จริงของเหล่าเมล็ดพันธ์ุด้านการออกแบบเหล่านี้ ออกมาเป็นรูปแบบของพาวิลเลี่ยน Street Wonder ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า กับ Street vendor ที่ทั้งคู่ไปขอเช่ายืมรถเข็น โต๊ะ ที่นั่งของพวกเขามาเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำหรับพาวิลเลียนแสดงงานของนักศึกษา
6. The Hijab
(ASA Experimental design pavilion)
สาโรช พระวงค์ X เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา
‘ASA Experimental design’ เป็นการสร้างสรรค์พาวิลเลียนให้มีสภาพแวดล้อมที่ต้องเอื้อให้การจัดแสดงนิทรรศการผลงานการประกวดแบบจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ทั้งในระดับนักศึกษาและระดับวิชาชีพ จุดเด่นของการออกแบบคือการใช้ผ้าสีดำมาห่อหุ้มโครงสร้างของพาวิลเลียนที่ขึ้นรูปจากไม้เคร่า เพื่อสื่อถึง ‘ฮิญาบ’ สัญลักษณ์แทนความรู้สึก วิถี และวัฒนธรรมของภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
07 กำแพงแห่งปัญญา (Wall of Wisdom)
ASA Architectural design award 2022 pavilion (นิทรรศการรางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2565)
ธนชาติ สุขสวาสดิ์ / กานต์ คำแหง X กาญจนา ชนาเทพาพร
พื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานรางวัลการออกแบบสถาปัตยกรรมดีเด่นและนิทรรศการรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมประจำปี 2565 ทีมออกแบบนำเสนอพาวิลเลียนในลักษณะ sculpture architecture ซึ่งเป็นการนำแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวที่เป็นธรรมชาติมาแปลงให้เป็นแนวทางในการกำหนดพื้นที่และพัฒนารูปลักษณ์ ผ่านการออกแบบพาวิลเลี่ยนให้คล้ายคลึงกับลักษณะการลำเลียงอาหารของใบไม้
8. ชาวนาและช่างก่อสร้าง (Farmer and Builder)
(นิทรรศการประกวดแบบภาครัฐ)
ซัลมาน มูเก็ม X รติกร ตงศิริ
ภายในพาวิลเลียนเป็นการนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มชาวนาไทอีสานที่เกิดการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน คือเป็นชาวนาที่ทำนาประณีตแบบอินทรีย์ โดยมีการจัดแสดงพันธุ์ข้าวที่ชาวนาไทอีสานทำการอนุรักษ์ไว้กว่า 150 สายพันธุ์ เพื่อบอกเล่าถึงความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่เชื่อมโยงไปสู่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษและส่งต่อมาจนถึงชาวนารุ่นปัจจุบัน
9. หมอบ้านอาษา
จักรพันธุ์ บุษสาย / วาสิฏฐี ลาธุลี X วีรดา ศิริพงษ์
พื้นที่ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาปรึกษาทุกปัญหาคาใจเกี่ยวกับบ้านและการก่อสร้างกับทีมสถาปนิกจิตอาสาได้ พาวิลเลียน ‘หมอบ้านอาษา’ จึงมาในรูปแบบงานประติมากรรมที่ก่อสร้างขึ้นด้วยไม้อัด OSB ที่ได้จากเศษไม้และขี้เลื่อย, ผ้าจากแบรนด์ moreloop ที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ และยังใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตใส ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างที่หาได้ง่ายในท้องตลาดเพื่อสร้างให้พื้นที่พาวิลเลียนมีความกึ่งทึบกึ่งโปร่งและน่าดึงดูดขึ้น
10. ASA SHOP PLAYBRARY
(ASA Shop)
ชารีฟ ลอนา x สเริงรงค์ วงษ์สวรรค์
‘ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่สำหรับผู้อ่าน แต่ต้องเหมาะสมสำหรับทุกคนด้วย’ ASA Shop’ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับขายหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ และผลิตภัณฑ์ทั้งจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ รวมไปถึงผลงานออกแบบของเหล่าสถาปนิกและนักสร้างสรรค์ จุดเด่นและองค์ประกอบสําคัญของ ASA SHOP PLAYBRARY หลังนี้คือการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน เพื่อตอบสนองต่อฟังก์ชั่นที่ต่างกัน ผ่านโครงสร้างชั่วคราวผนังเบาโครง C-LINE, ผ้าใบหุ้ม, วัสดุพื้น Checker plate, แผ่นกันลื่น และกระเบื้องยาง เป็นต้น
11. ‘รส สัมผัส’ (Touchless)
ASA Club
ปรัชญา สุขแก้ว X สุเมธ ยอดแก้ว
ASA Club’ พาวิลเลียนที่มีหน้าที่ใช้สอยหลักคือการเป็นจุดนัดพบ พักคอย และเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับการรับประทานของว่างและเครื่องดื่มของชาว ASA ในส่วนการจัดการพื้นที่ถูกสร้างสรรค์ภายใต้เครื่องมือการออกแบบที่น้อยตัวโครงสร้างพาวิลเลียนนำเอากระดาษ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความน้อย แต่มากไปด้วยประโยชน์ และยังสามารถส่งต่อและนำกลับมาใช้ใหม่ มาขึ้นรูปด้วยการทำเป็นหุ่นจำลองกระดาษหรือการจัดการพื้นที่ของลังกระดาษ เพื่อให้เกิดฟังก์ชั่นใช้สอย
12. ขวัญ (เอย ขวัญ มา) (Spiral)
ลานกิจกรรม / Main stage
ภูริทัต ชลประทิน X ปณชัย ชัยจิรรัตน์ / ปุญญิศา ศิลปรัศมี
พื้นที่แบบอเนกประสงค์ที่สามารถรองรับและยืดหยุ่นของกิจกรรม การออกแบบได้นำเอาลายเส้นของ ก้นหอย หรือ ขวัญ ที่มีความสัมพันธ์กับร่างกายของมนุษย์มาช้านาน มาพัฒนาต่อจนเกิดเป็นรูปแบบของพาวิลเลียนชื่อว่า ‘ขวัญ (เอย ขวัญ มา)’ หรือ ‘Spiral’ ทีมออกแบบใช้เทคนิคการก่อสร้างโดยนำเส้นฝ้ายมาขึ้นรูปด้วยการเรียงเป็นเส้นๆ ตามโครงฉากที่ถูกออกแบบให้เป็นเสมือนผนังบางๆ วนโดยรอบพื้นที่ ก่อให้เกิดน้ำหนักตามสีที่ถูกเรียงซ้อนทับกัน
ถึงจะพาส่องไฮไลท์แบบจัดเต็มแค่ไหน ก็ยังไม่จุใจเท่ากับได้ไปเห็นพาวิลเลี่ยนของจริง ทั้ง 12 ด้วยตาของตัวเอง บอกเลยว่าปีนี้สถาปนิก’65 เขาจัดให้แบบไม่มีกั๊ก ศิลปินและนักออกแบบร่วมกันสร้างสรรค์งานดีไซน์ที่สื่อถึงการ พึ่งพา-อาศัย ได้อย่างน่าสนใจ ที่เชื้อเชิญให้คุณออกมารับสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ของงานดีไซน์ที่เกิดจากความร่วมมือของคนในแต่ละสาขาวิชาชีพ
เตรียมพบกับผลงานการออกแบบพื้นที่จัดแสดง รวมถึงกิจกรรมไฮไลท์ อื่น ๆ อีกมากมาย จัดเต็มตลอด 6 วัน ได้ที่ “งานสถาปนิก’65 (Architect’22) ภายใต้แนวคิด CO-WITH CREATORS: พึ่งพา-อาศัย” ระหว่างวันที่ 26 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2565 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี