เผยงานวิจัยล่าสุด : การล่าสัตว์เพื่อรางวัล กำลังฉุดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของแอฟริกาใต้ให้เสียหาย

งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยให้เห็นว่าประชาชนในแอฟริกาใต้และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างต้องการเห็นการยุติการล่าสัตว์เพื่อรางวัลหรือเพื่อนำซากสัตว์มาตกแต่งหรือเป็นของที่ระลึก (Trophy Hunting) และพร้อมสนับสนุนกิจกรรมที่จะสร้างเสริมประสบการณ์ที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า ซึ่งเป็นผลจากการปรึกษาหารือแบบเปิดกว้างของแอฟริกาใต้เกี่ยวกับร่างสมุดปกขาวเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของแอฟริกาใต้อย่างยั่งยืน (Conservation and Sustainable Use of South Africa’s Biodiversity White Paper)
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection ได้จัดทำวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติของประชาชนต่อการล่าสัตว์เพื่อรางวัลโดยได้สำรวจประชาชนจากทั่วโลกจำนวน 10,900 คน ที่รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากหลายๆประเทศที่เดินทางมาเที่ยวในแอฟริกาใต้เป็นประจำ รวมถึงประชาชนในแอฟริกาใต้ โดยผลสำรวจเผยให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดมีความรู้สึกต่อต้านอย่างรุนแรงต่อกีฬานองเลือด และยินดีให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อปกป้องสัตว์ป่าที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยผ่านการท่องเที่ยวทางเลือกอื่นๆที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิตสัตว์ เช่น การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบต่อสัตว์ป่า
ผลการวิจัย*ที่สำคัญเปิดเผยให้เห็นว่า :
• ร้อยละ 84 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เห็นว่า รัฐบาลแอฟริกาใต้จะต้องให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่ามากกว่าการล่าสัตว์เพื่อรางวัล
• ร้อย 74 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เห็นว่า การกำหนดนโยบายโดยมีการการล่าสัตว์เพื่อรางวัลเป็นนโยบายหลัก จะเป็นการทำลายชื่อเสียงของแอฟริกาใต้ และทำให้นักท่องเที่ยว
ร้อยละ 72 จะไม่เดินทางมาท่องเที่ยวที่แอฟริกาใต้
• คนแอฟริกาใต้ 7 ใน 10 คน เห็นด้วยว่า แอฟริกาใต้จะเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยวหากประเทศประกาศห้ามการล่าสัตว์เพื่อรางวัล
• 3 ใน 4 (ร้อยละ 74) ของคนแอฟริกาใต้ ไม่ยอมรับการล่าสัตว์เพื่อรางวัลและเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามแนวทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าอย่างเต็มที่

Nick Stewart หัวหน้าใหญ่ของแคมเปญสัตว์ป่าองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า:
“สมุดปกขาวจัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศ เพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติโดยที่ความหลากหลายทางชีวภาพ ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้สำหรับประชาชนในรุ่นนี้ และรุ่นต่อไป นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ยังขาดความมุ่งมั่นที่ชัดเจนหรือที่เป็นรูปธรรมในการยุติการค้าสัตว์ป่าเชิงพาณิชย์ระดับโลก ซึ่งรวมถึงการผสมพันธุ์สิงโตในกรง การนำเสือมาใช้เพื่อเป็นยาแผนโบราณและยุติการล่าสัตว์เพื่อรางวัล
“สาธารณรัฐแอฟริกาใต้จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อมุ่งสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่ามากขึ้น เวลานี้ยังไม่สายเกินไปที่จะคว้าโอกาสในการสร้างจุดยืนอย่างชัดเจนโดยยอมรับแนวทางที่เป็นมิตรและไม่ทำร้ายสัตว์ป่า รวมถึงการเที่ยวชมสัตว์ป่าอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและประชาชนในประเทศได้แสดงความต้องการอย่างชัดเจนแล้ว ขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องแสดงแผนการทำงานต่อสาธารณะอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการยุติการล่าสัตว์เพื่อรางวัลอย่างถาวร”
Edith Kabesiime ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ป่า (แอฟริกา) องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก กล่าวว่า:
“ชีวิตของสัตว์ป่ามีค่ามากกว่าจะเป็นเพียงแค่ของที่ระลึกจากการล่าสัตว์ที่เสมือนการลดคุณค่าสัตว์ป่า นี่คือมุมมองจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการเยี่ยมชมสัตว์ป่าที่มีชีวิต รวมถึงวิถีชีวิตตามธรรมชาติของสัตว์ป่า และมุมมองจากประชาชนชาวแอฟริกาใต้ที่อยู่ใกล้ชิดสัตว์ป่าต้องการเห็นสัตว์ป่าได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสมพร้อมด้วยมีมนุษยธรรมและจริยธรรม
“รัฐบาลจะต้องฟังเสียงของประชาชนชาวแอฟริกาใต้ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มรดกธรรมชาติที่เป็นสัตว์ป่าต้องถูกทำร้ายไปมากกว่านี้ และต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นอกจากนั้นยังต้องเร่งเดินหน้าทำให้กิจกรรมล่าสัตว์เพื่อรางวัลของเหล่าเศรษฐีชาวตะวันตก กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ภายใต้สถานการณ์โลกที่ทัศนคติของประชาชนกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
“หากไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน แอฟริกาใต้จะต้องระดมความคิดสร้างสรรค์อย่างมากเพื่อกำหนด และสร้างแรงจูงใจตลอดจนดำเนินการตามแนวทางที่ไม่ทำร้ายพร้อมกับการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่เป็นสัญลักษณ์ของแอฟริกา สัตว์ป่ามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในป่าโดยปราศจากถุกแสวงหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่โหดร้ายทารุณ เราต้องมีสำนึก เคารพชีวิตของสัตว์ป่าและปกป้องพวกเขา”
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ยินดีที่ กรมป่าไม้ ประมงและสิ่งแวดล้อมของแอฟริกาใต้ ได้ออกมาตรการใหม่เพื่อยุติการเลี้ยงสิงโตที่ถูกกักขังและยกเลิกอุตสาหกรรมที่แสวงหาประโยชน์จากสิงโตที่ถูกกักขังเพื่อการพาณิชย์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 แต่ความก้าวหน้าในขั้นตอนนี้กลับต้องหยุดชะงักลง ดังเห็นได้จากความคืบหน้าที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีถัดมา
การพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่าและการยุติการแสวงหาประโยชน์จากสัตว์ป่า เช่น การล่าสัตว์เพื่อรางวัลและการผสมพันธุ์สิงโตในกรง จะช่วยสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติให้แก่แอฟริกาใต้ในฐานะเป็นผู้นำของโลกในด้านการสร้างประสบการณ์ที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า ซึ่งจะทำให้ประเทศมีสถานะใหม่กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้เปรียบในการแข่งขันได้มากยิ่งขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพสัตว์ป่า
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเรียกร้องให้สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ดำเนินการดังนี้ :
– ยุติกิจกรรมที่โหดร้ายและอันตราย เช่น การล่าสัตว์เพื่อรางวัลและพัฒนาแนวทางหลักเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
– ประกาศความมุ่งมั่นต่อสาธารณะเพื่อนำไปสู่การยุติการล่าสัตว์เพื่อรางวัล
– ปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ไม่ทำร้ายสัตว์ป่า รวมถึง การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์ป่า

องค์กรการกุศลกำลังเรียกร้องให้เราร่วมกันแสดงความคิดเห็นผ่านการปรึกษาหารือสาธารณะเกี่ยวกับสมุดปกขาวเป็นระยะเวลา 60 วัน และเรียกร้องให้มีอนาคตที่เป็นมิตรต่อสัตว์ป่าอย่างแท้จริงในแอฟริกาใต้ ได้ที่ https://www.worldanimalprotection.org/trophy-hunting

เครดิตภาพถ่าย © World Animal Protection

เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก หรือ World Animal Protection เป็นองค์กรเพื่อคุ้มครองปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์อย่างถาวร โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 มีบทบาทในการให้คำปรึกษากับองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ สร้างความแตกต่างให้สัตว์ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ถูกทารุณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยดำเนินงานครอบคลุมทั้งสัตว์ในชุมชน – สุนัข, สัตว์ป่า – สัตว์ในฟาร์ม รวมถึงการให้ความรู้ด้านปศุสัตว์ที่มีมนุษยธรรมอันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ ข้อมูลเพิ่มเติม www.worldanimalprotection.or.th

รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ อภิลักษณ์ พวงแก้ว ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร 02 007 1767 aphiluck@worldanimalprotection.or.th