การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่อง “พลังงานสะอาด” ในบริบทของภาคการศึกษา ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เกิดการนำความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาดไปใช้ในชีวิตประจำวัน และจะนำไปสู่ “Clean Energy for Life” ใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน พร้อมขับเคลื่อนสังคมไทยให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ และเชื่อมโยงสังคมจากระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ
“โครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด” ดำเนินงานโดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2563 ในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านพลังงาน (Energy Literacy) ให้กับเด็กและเยาวชน ร่วมกับครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทุกกลุ่มสาระและอาชีวศึกษา จำนวน 50 ทีม ซึ่งครูทุกท่านได้รับการอบรมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาในบทบาทของ School Partner โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีศักยภาพในการผลิตนวัตกรรมการเรียนรู้ด้านพลังงานแบบสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังจากกลุ่มครู ผู้นำชุมชน และนักศึกษา โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนมีนาคม 2565
• “Tyrant Board Game” ปลุกสำนึกสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อม–สังคม–เศรษฐกิจ
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับครูพลังงานสะอาด ครูมอญ–นายสิลารัฐ อรุณธัญญา และ ครูปันปัน–นางสาวบวรลักษณ์ เจียรนัยสุรรัตน์ จาก “ทีม Green Energy Policy Board Game” โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าของไอเดีย “Tyrant Board Game” ที่มุ่งหวังตั้งใจให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้พลังงาน เพื่อนำไปสู่การตระหนักเกี่ยวกับการใช้พลังงานและรู้จักประหยัดพลังงาน โดยคุณครูทั้งสองเล่าให้ฟังว่า
“จุดเริ่มต้นของบอร์ดเกมนี้เกิดจากรายวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ที่เราทั้งคู่สอนเหมือนกัน และมองว่าน่าจะทำอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นรายวิชาพื้นฐานที่นักเรียนทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ต้องเรียนเหมือนกัน อยากให้ผู้เรียนเรียนอย่างสนุกสนานและเข้าใจ พอเข้าร่วมโครงการนี้เราก็นำบอร์ดเกมที่ทำเป็นตัวอย่างไว้ให้เด็กเล่นอยู่แล้วมาปรับให้เกี่ยวข้องพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเนื้อหาของเกมเป็นเรื่องของการตระหนักรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยนำข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เช่น พลังงานที่ใช้ประเทศไทย การใช้พลังงานในต่างประเทศ รวมถึงผลดีผลเสียต่อกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ในตัวบอร์ดเกม นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างสมดุลใน 3 เสาหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ผ่านบอร์ดเกมของเรา และผมเชื่อมั่นว่าโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาดจะผลักดันให้สื่อการเรียนรู้ของเราก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นครับ” ครูมอญ เล่าที่มาและเนื้อหาของบอร์ดเกม
“Tyrant Board Game จะเน้นที่ความสนุกสนานและค่อนข้างที่จะออกจากคำว่าชุมชน มาเป็นภาพรวมของประเทศ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้รอบตัวมากขึ้น เพราะภายในชุมชนยังไม่มีพลังงาน ที่มีความหลากหลายมากพอ มั่นใจว่าจะเป็นอีกหนึ่งเกมที่ช่วยสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมในระดับเครือข่ายที่กว้างขึ้น นักเรียนจะได้รับบทเรียนจากบอร์ดเกมนี้ซึ่งจะเน้นให้เห็นว่า ยิ่งทำลายสิ่งแวดล้อมมากเท่าไร ผลกระทบจะยิ่งสะท้อนหรือย้อนกลับมาเพิ่มมากขึ้น เด็กนักเรียนจะได้รับประสบการณ์จากการเล่นเกม และตระหนักรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้พลังงานว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เขาจะต้องพบเจออย่างไรบ้าง” ครูปันปัน กล่าวเสริม
• “เกมอินเตอร์เฟสเสมือนจริงพลังงานไฟฟ้าจากขยะ” ความสนุกพร้อมสาระความรู้
ปิดท้ายกันที่คู่หูครูสายฮา ครูมานะ–นายมานะ อินทรสว่าง และ ครูบิ๋ม–นายอภิชาติ ร่มลำดวน จาก “ทีม SNR Clean Energy” จากโรงเรียนศึกษานารี จังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่มาแชร์มุมมองการสร้างความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี สู่การส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากขยะผ่าน “เกมอินเตอร์เฟสเสมือนจริงพลังงานไฟฟ้าจากขยะ” ที่มีความน่าสนใจ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้ผู้เรียนสนุกสนาน ให้ฟังว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาสื่อพลังงานสะอาด คือ คอนเทนต์ที่จะนำมาทำต้องเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กมากที่สุด หรือดูบริบทรอบตัวเราเป็นสำคัญ
“เกมอินเตอร์เฟสเสมือนจริงพลังงานไฟฟ้าจากขยะ เป็นการจับประเด็นจากเรื่องใกล้ตัวในโรงเรียนของเราซึ่งมีเด็กนักเรียนมากถึง 3,000 กว่าคน แต่มีพื้นที่แค่ประมาณ 6 ไร่ ทำให้มีปริมาณขยะเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม เราจึงพยายามหาวิธีการบริหารจัดการขยะให้เกิดประโยชน์ พอเห็นโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาด ก็เลยชวนครูบิ๋มสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งตอนแรกเราหวังแค่ความสนุกสนาน แต่พอได้รับคำแนะนำจากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญของโครงการฯ ทำให้เราได้มุมมองใหม่ว่า นอกจากจะสนุกแล้วต้องสอดแทรกความรู้ด้วย โดยรูปแบบเกมแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. พรีเทสต์เรื่องการคัดแยกขยะ 2. การทำภารกิจ (Mission) ในแต่ละด่าน พร้อมคลิปวิดีโอสั้น ๆ ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะรีไซเคิล ซึ่งนักเรียนต้องสวมบทบาทเป็นตัวละครที่ต้องเก็บขยะรีไซเคิล เอาไปขายสร้างรายได้สะสมไว้ เพื่อทำภารกิจที่ 2 ซึ่งจะเป็นการสะสมแต้มเพื่อนำไปใช้ในการสร้างโรงไฟฟ้า เท่ากับว่าได้เล่นเกม และได้ทำภารกิจนั้นจริง ๆ ด้วยการออกแบบเป็นสถานีการเรียนรู้เรื่องการคัดแยกขยะภายในโรงเรียนที่นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ได้” ครูมานะ บอกเล่าเรื่องราว
“ปัญหาขยะเป็นปัญหาระดับประเทศ และสิ่งที่เราอยากทำคือ สร้างความตระหนักรู้เรื่องการคัดแยกขยะ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าการเป็นแค่ขยะที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม แต่ขยะบางประเภทสามารถนำมารีไซเคิลและผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ส่วนเหตุผลที่เราเลือกพัฒนาเป็นเกม เพราะเมื่อเด็กได้เล่นเกม ได้สัมผัสจริง เด็กจะมีความสุข และเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายกว่า ซึ่งอุปสรรคของการออกแบบและพัฒนาเกมนี้ก็คือ การที่เราพยายามทำสื่อที่แหวกแนวกว่าคนอื่น ทำให้มีความยากทั้งเรื่องคอนเทนต์และเทคนิคต่าง ๆ อย่างทีมที่ทำเป็นซอฟต์แวร์มันก็จบในคอมพิวเตอร์ แต่สื่อที่เราทำเป็นเกมเสมือนจริง ซึ่งต้องทำทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ไปพร้อม ๆ กัน แต่เราก็จะตั้งใจทำให้ดีที่สุด และขอบคุณโอกาสดี ๆ จากโครงการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เพื่อพลังงานสะอาดครับ” ครูบิ๋ม กล่าว
หลากหลายไอเดียสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้จาก “ครูพลังงานสะอาด” กับความมุ่งหวังที่จะสร้างทักษะการตระหนักรู้ให้กับนักเรียนและเยาวชน จะเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาดให้เกิดขึ้นจริงได้ในทุกภาคส่วน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมเชื่อมโยงเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป.