CSIRO ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย เผยแพร่รายงานที่ให้ข้อมูลโดยสรุปว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใดบ้างที่ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อโรคระบาดในอนาคต ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และปกป้องชุมชน
รายงานเรื่อง การเสริมสร้างการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดของออสเตรเลีย (Strengthening Australia’s Pandemic Preparedness) ให้คำแนะนำ 20 ข้อเพื่อสนับสนุนภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในการลดผลกระทบจากโรคระบาด พร้อมทั้งปรับปรุงผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบสุขภาพที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนั้นสามารถทำหน้าที่เป็นระบบเตือนภัยการเกิดโรคติดเชื้อได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยสนับสนุนการพัฒนายาและวิธีการรักษาใหม่ ๆ พร้อมนำไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาเร็วขึ้น มอบความมั่นคงในการจัดหาวัคซีน และทำให้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ดีขึ้น
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าหนึ่งล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก
ดร.แลร์รี มาร์แชล (Dr Larry Marshall) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CSIRO กล่าวว่า CSIRO มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสามารถของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในการรับมือและปรับตัวต่อโรคติดเชื้อ
“แม้โรคติดเชื้อยังคงเติบโตต่อเนื่องทั้งในแง่ของความถี่และผลกระทบ แต่วิทยาศาสตร์สามารถเตรียมเราให้พร้อมสำหรับสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า รวมทั้งผลักดันให้เราฟื้นตัวและปรับตัวเพื่อปกป้องประชาชน ตลอดจนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต”
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 6 ด้านสำคัญที่ระบุในรายงาน ได้แก่
ขีดความสามารถด้านวัคซีน การรักษา และการวินิจฉัยในระดับพรีคลินิก ช่วยผลักดันการพัฒนาให้เร็วขึ้น
การผลิตวัคซีนในประเทศโดยใช้เทคโนโลยีวัคซีนที่หลากหลาย สร้างความเชื่อมั่นเรื่องการจัดหาวัคซีน
การนำยาเก่ามาใช้รักษาโรคใหม่ และยาต้านไวรัสชนิดใหม่
การตรวจวินิจฉัย ณ จุดให้บริการ เพื่อค้นหาผู้ป่วย
การวิเคราะห์จีโนมของเชื้อโรคและสายพันธุ์ต่าง ๆ ของเชื้อโรค
การแบ่งปันข้อมูลเพื่อจัดทำแผนการตอบสนอง
รายงานมุ่งเน้นไปที่การวิจัย 5 ตระกูลของไวรัสที่มีแนวโน้มว่าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดใหญ่ในอนาคต ได้แก่ Coronaviridae (เช่น โควิด), Flaviviridae (เช่น ไข้เลือดออก Dengue), Orthomyxoviridae (เช่น ไข้หวัดใหญ่), Paramyxoviridae (เช่น นิปาห์) and Togaviridae (เช่น ไข้ชิคุนกุนยา)
ในการจัดทำรายงานฉบับนี้ CSIRO ได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ 146 คน จาก 66 องค์กรในภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และแวดวงการวิจัย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมกลยุทธ์ระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การล็อกดาวน์ และ การปิดพรมแดน ขณะเดียวกันก็ช่วยแบ่งเบาต้นทุนทางสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
“วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการยกระดับความสามารถในการรับมือและปรับตัว” ดร.มิเชลล์ เบเกอร์ (Dr Michelle Baker) จาก CSIRO กล่าว “CSIRO มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือกับรัฐบาล ภาคอุตสาหกรรม และแวดวงการวิจัย เพื่อปกป้องภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และสร้างความเชื่อมั่นว่าภูมิภาคนี้พร้อมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต”